News

“กฤษฏา” ออกโรงยันผลการตรวจสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้พบร้อยละ 79ปลอดภัย

01/10/2018

“กฤษฏา” ออกโรงยันผลการตรวจสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้พบร้อยละ 79ปลอดภัย ชี้กษ.สธ.ใช้เกณฑ์ตรวจวัดตามมาตรฐานสากล เก็บวิเคราะห์มากกว่า 7 พันตัวอย่าง ส่วนที่มีสารตกค้างเกินเกณฑ์จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยผลปรากฎว่า พบว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ11 จากนั้นได้มีผู้แสดงความเห็นผ่านเสื่อโซเชียลมีเดียถึงผลตรวจวิเคราะห์ว่า ไม่น่าเชื่อถือนั้น จึงได้ชี้แจงย้ำว่าโครงการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกันดำเนินการตั้งแต่ปี2560 ซึ่งในปี 2561นี้ ได้มีการวางแผนการทำงานร่วมกันของ 4 หน่วยงานคือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่แปลงเกษตรกร โรงคัดบรรจุผักผลไม้สดห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่งค้าปลีก และครัวของโรงพยาบาลรัฐ โดยเก็บตัวอย่างวิเคราะห์มากกว่า7,000 ตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่มีการศึกษามาในประเทศ อีกทั้งการเก็บตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมีดำเนินการตามหลักการสากล ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถประเมินสถานการณ์ของสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ในประเทศ เพื่อวางมาตรการการควบคุมและกำกับดูแล เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคได้ดีขึ้น โดยค่าที่ตรวจพบจะนำไปเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งหากตัวอย่างผักและผลไม้ใดที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานแสดงว่ามาจากการเพาะปลูกที่ใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้นำไปแนะนำเกษตรกรและควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายต่อไป  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้รวม 7,054ตัวอย่าง พบว่า6,264 ตัวอย่างหรือร้อยละ 79 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยส่วนที่พบสารพิษตกค้างในระดับเกินมาตรฐานมี 790ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 11 และจาก 790 ตัวอย่าง มี10 ตัวอย่าง ที่พบสารเคมีในระดับสูงเกินระดับที่ปลอดภัย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่พบในส้ม ซึ่งการตรวจสอบส้มเป็นการตรวจวิเคราะห์ส้มทั้งเปลือก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีข้อมูลผลการศึกษาที่ชัดเจนว่า สารเคมีที่พบในส้มทั้งที่เป็นชนิดที่ตกค้างที่เปลือกหรือชนิดดูดซึม เมื่อนำส้มไปล้างทั้งผลและปอกเปลือกออกแล้วสารพิษตกค้างลดลงมากกว่า ร้อยละ40 – 80 และอยูในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคปอกเปลือกและบริโภคเนื้อส้มหรือการคั้นน้ำส้มโดยล้างเปลือกภายนอกก่อน จะสามารถลดสารพิษตกค้างให้เหลือน้อยลง จนอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่WHO กำหนด

นายกฤษฎา กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตระดับแปลงเกษตรกรหรือโรงคัดบรรจุเพื่อตักเตือนให้คำแนะนำให้ใช้สารเคมีให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขซึ่งหากแก้ไขไม่ได้จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดทั้งถอนใบรับรองที่เกษตรกรได้รับหรือใบอนุญาตของโรงคัดบรรจุ รวมทั้งการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อลดสัดส่วนผักและผลไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานลงให้เหลือน้อยที่สุด

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่จะกำกับดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค ตั้งแต่การอนุญาตให้ใช้สารเคมี โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์สากล ซึ่งสารเคมีที่อนุญาตจะต้องประเมินมาแล้วว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือมีอันตรายร้ายแรง มีการควบคุมให้เกษตรกรใช้สารเคมีตามความจำเป็นและถูกต้องตามหลัก GAP ทั้งยังควบคุมและตรวจสอบโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ รวมถึงการตรวจเฝ้าระวังผักและผลไม้ในแหล่งจำหน่าย มีการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และสารธรรมชาติเพื่อลดการใช้สารเคมีล่าสุดได้ดำเนินโครงการนำร่องคือโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยใช้ผักและผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารพิษมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน ซึ่งทั้ง 2กระทรวงจะดำเนินการมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีในผักผลไม้ รวมถึงผลผลิตทางเกษตรทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากที่สุด

No Comments

    Leave a Reply