News PR NEWS

คืนรอยยิ้มชาวอีสานตอนล่าง “บิ๊กฉัตร”เร่งรัดโครงการพัฒนาห้วยหลวงฯ ดีเดย์ปี’62

29/08/2018

 

“พลเอก ฉัตรชัย”กำกับ “สทนช.”เร่งรัดติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย เผยความคืบหน้าล่าสุดเร่งสำรวจออกแบบก่อสร้างคาดว่าจะออกแบบเสร็จทั้งหมดในปี’62 ด้าน “สทนช” เชื่อมั่นแก้ปัญหาท่วมซ้ำซาก และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรให้คนอีสานตอนล่างระยะยาว

วันนี้ (29 สิงหาคม 2561) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โดยมีระยะเวลาตามแผน 9 ปีคือระหว่างปี 2561 -2569 วงเงิน 21,000 ล้านบาท ซึ่ง สทนช. ได้มอบให้กรมชลประทานดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และอาคารประกอบในปีงบ 61 โดยใช้จากปีงบ 60 ที่กันไว้ จำนวน 672.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและจัดทำแผนบริหารและพัฒนา โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58  

สำหรับความคืบหน้าในส่วนของแผนสำรวจและออกแบบขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ได้แก่  สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง พนังกั้นน้ำเดิม 18.60 กม. ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา  12 แห่ง และประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวงหรือ ปตร.ดงสระพัง 1 แห่ง ส่วนด้านการจัดหาที่ดินที่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว คือ  สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง  พนังกั้นน้ำเดิม 18.60กม. ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 4 แห่ง  และอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง 1 แห่ง  นอกจากนั้น อยู่ระหว่างทำแผนสำรวจและออกแบบในระหว่างปี 62-65 ได้แก่  ประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง 2 แห่ง ระบบโครงข่ายน้ำ 12 โครงการ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)   กล่าวว่า  โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่งที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำระดับชาติที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุดถึงประมาณ 63.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศคือ 149.2 ล้านไร่ แต่กลับเป็นภาคที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ภาคอีสาน จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำค่อนข้างต่ำกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ประชากรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ  โครงการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จึงถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ให้การยอมรับ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดทำแผนขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

สำหรับโครงการลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จ. หนองคาย และ จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนในหน้าแล้ง ก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ ในส่วนลักษณะโครงการฯ ประกอบด้วย 1. สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง จะทำหน้าที่สูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวง ที่เกินระดับควบคุมของประตูระบายน้ำ เพื่อระบายสู่น้ำโขง มีอัตราการสูบ สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 18,000 ไร่  2. พนังกั้นน้ำช่วงตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ป้องกันผลกระทบช่วงน้ำหลาก ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 19,015 ไร่  3. อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง รับน้ำช่วงน้ำหลากเพื่อระบายสู่น้ำโขง ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 17,375 ไร่  4. ระบบชลประทานของโครงข่ายหัวงาน จำนวน 13 โครงข่าย ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 18 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 315,195 ไร่ รวมเป็นการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ คลอบคลุม 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด 284 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน

No Comments

    Leave a Reply