กรมชลประทาน เดินหน้างานก่อสร้างประตูระบายน้ำและงานขุดลอกในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย สั่งจับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นฤดูฝน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำยังเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพพื้นที่ช่วงต้นของลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชีในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลงและคดเคี้ยว ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เกือบทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและงานขุดลอกในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยัง อาทิ ประตูระบายน้ำ(ปตร.)กุดปลาเข็ง ปตร.หนองสนม ปตร.ห้วยวังขอน และขุดลอกคลองผันน้ำห้วยวังหลวง เป็นต้น ปัจจุบันมีผลดำเนินงานภาพรวมคืบหน้าตามแผนแล้วกว่าร้อยละ 90 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้กำชับทุกโครงการชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยัง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ด้วยการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ ให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Dynamic Rule Curve) พร้อมกับตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เร่งรัดให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง และในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองร้อยเอ็ด ที่สำคัญได้วางแผนใช้อาคารชลประทานในการบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี-แม่น้ำมูล รวมถึงกำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยัง เป็นพื้นที่หน่วงน้ำตัดยอดน้ำหลากลงสู่แก้มลิง และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.
No Comments