News

กรมชลฯ เร่งเครื่องโครงการระบบระบายน้ำพานทอง แก้ปัญหาน้ำท่วมรอยต่อฉะเชิงเทรา-ชลบุรี

28/04/2019


กรมชลประทานเดินหน้าเร่งดำเนินโครงการระบบระบายน้ำพานทอง มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีนี้ มั่นใจช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจรอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งดำเนินโครงการระบบระบายน้ำพานทอง ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางระบายน้ำ
ท่วมขังในเขตรอยต่อพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี ลงสู่แม่น้ำบางประกงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออก ล่าสุดมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 87 ของการดำเนินโครงการทั้งหมด“สืบเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด ลุ่มน้ำคลองหลวง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำบางปะกง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี ด้านล่างของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดชายฝั่งทะเลและเป็นแอ่งกระทะ โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเป็นแม่น้ำสายหลักเพื่อรับน้ำจากคูคลองต่าง ๆ ระบายลงสู่ทะเล เมื่อมีฝนตกในพื้นที่มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี โดยเฉพาะในเขตอำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื่องจากประสิทธิภาพในการระบายน้ำต่ำและอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน อย่างเช่นการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ในพื้นที่อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม และเขตนิคมอุตสาหกรรม มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เกิดผลกระทบเป็นบริเวณกว้างมากกว่า 44,000 ไร่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติประกอบกับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจของภาคตะวันออก ดังนั้น กรมชลประทาน จึงเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าลาดและลุ่มน้ำคลองหลวง เพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และดำเนินโครงการระบบระบายน้ำพานทอง เป็นโครงการเร่งด่วน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่สุด
​สำหรับโครงการระบบระบายน้ำพานทอง ประกอบด้วยงานสำคัญ ๆ คือการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ขนาดช่องระบาย 6.00 x 6.00 เมตร จำนวน 3 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ อัตราการสูบ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง ก่อสร้างทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงพร้อมเขื่อนป้องกันตลิ่ง และก่อสร้างสะพานข้ามคลอง จำนวน 1 แห่ง ใช้งบประมาณดำเนินโครงการทั้งสิ้น 514 ล้านบาท
​ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ สามารถลดระยะเวลาการท่วมขังของน้ำในพื้นที่ และช่วยเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถช่วยบริหารจัดการน้ำที่เน่าเสียในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง และที่สำคัญจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งแล้ว ยังเป็นที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อีกด้วย
​ส่วนประชาชนในพื้นที่ จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเช่นกัน คือสามารถลดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร และทรัพย์สิน รวมทั้งลดผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากภาวะน้ำท่วม

No Comments

    Leave a Reply