SOCIAL HOT

สารเร่งเนื้อแดง ภัยร้ายที่มองไม่เห็น!!

25/08/2018

“ความปลอดภัยทางอาหาร : Food Safety” เป็นนโยบายของประเทศไทย ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ในส่วนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูก็รับนโยบายมาปฏิบัติ ด้วยการพัฒนาไปสู่การผลิตเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย นับตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม การเชือดชำแหละ จนถึงการแปรสภาพและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 ทั้งนี้ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด มองว่า หากแต่ในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน วงการเลี้ยงหมูไทยกลับต้องฟันฝ่าพายุลูกใหญ่ จากการที่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็นแชมป์เปี้ยนในการผลิตหมูอันดับ 1 ของโลก พยายามผลักดันผลิตภัณฑ์หมูของตนเองที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง-แรคโตพามีนได้อย่างเสรี ให้สามารถส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศ ผ่านการกดดันทุกวิถีทาง

 โดยไม่สนใจว่า สารเร่งเนื้อแดง ถือเป็นสารเคมีภัณฑ์ต้องห้ามสำหรับประเทศไทย ตาม ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 ไม่ให้ใช้สารนี้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ และพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์พ.ศ.2558 ที่ห้ามผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์รวมถึงการเลี้ยงหมู รวมทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (สารเร่งเนื้อแดง) ที่ต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารนี้ในอาหาร

กฎเกณฑ์ทั้งหมดของไทยสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศ อาทิ จีน รัสเซีย ที่ยังคงไม่เห็นด้วยและปฏิเสธการใช้สารอันตรายนี้ ตลอดจนยืนยันที่จะห้ามใช้สารนี้อย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชากรของประเทศอย่างถึงที่สุด

 ความนิยม-ต้นทุน..มูลเหตุจูงใจใช้สารเร่งเนื้อแดง!!

ค่านิยมและความห่วงใยในสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน มีสีแดงสวยน่ารับประทาน ด้วยเข้าใจว่าปราศจากไขมันหรือมีคลอเรสเตอรอลน้อย ทำให้เสี่ยงกับการรับประทานเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง เนื่องจากเนื้อหมูดังกล่าวจะมีปริมาณของไขมันต่ำกว่าปรกติ หรือแทบไม่มีให้เห็น ขณะที่หมูที่เลี้ยงตามปรกติจะมีชั้นไขมันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเป็นเนื้อหมูสามชั้น จะมีสัดส่วนไขมันอยู่ที่ร้อยละ 60 ต่อเนื้อแดงร้อยละ 40 ส่วนหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะมีสัดส่วนของไขมันในอัตราส่วนตรงกันข้าม

 ส่วนการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูก็ช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้มาก เนื่องจากหมูที่ไม่ใช้สาร จะเจริญเติบโตตามปกติ ปริมาณกล้ามเนื้อต่ำกว่า และชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนากว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหมูที่กินอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะเจริญเติบโตเร็ว รูปร่างกำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ และที่แน่นอนคือขายได้ราคาดีกว่าเพราะสัดส่วนของเนื้อมากกว่าฃ

สารเร่งเนื้อแดง..มหันตภัยแฝง!!

สารเร่งเนื้อแดงที่เราเรียกกันติดปากนี้ คือสารในกลุ่มเบต้าอะโกรนิสต์ เช่น เคล็นบิวเทอโรลและซัลบูตามอล จะเป็นส่วนผสมของตัวยาที่นิยมใช้รักษาผู้ป่วยโรคหอบหืด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการขยายหลอดลมและช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการกล้ามเนื้อสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปรกติ กระวนกระวาย วิงเวียนและปวดศีรษะ จึงห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และต้องใช้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยไทรอยด์ เมื่อมีการนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์และผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารดังกล่าวตกค้างอยู่ ก็จะมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้และปวดศรีษะอย่างรุนแรง หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต จึงห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์โดยเด็ดขาด

คนเลี้ยงหมูยืนหยัดคัดค้านหมูมะกันปกป้องผู้บริโภคและเกษตรกรไทย!!

ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยง ต่างร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยเห็นถึงผลกระทบของสารเร่งเนื้อแดงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง และสุขภาพของคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารนี้ตกค้าง ควบคู่ไปกับการปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้สารนี้ก่อโทษภัยต่อคนไทย เป็นการสร้างความปลอดภัยในอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต

ดังนั้นคนเลี้ยงหมูทั้งประเทศ จึงไม่อาจยินยอมให้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำเข้าเนื้อหมูของสหรัฐเข้าสู่ประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จไปได้ ทุกคนจะยืนหยัดคัดค้าน “การหาช่องทาง” ในการ “ทิ้ง” เศษเหลือหรือ “ขยะ” ทั้งหัว ขา และเครื่องใน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหมูที่คนอเมริกันไม่กิน เพื่อไม่ให้สารเร่งเนื้อแดงที่เป็นภัยเงียบเข้ามาทำร้ายสุขภาพของคนไทยและทำลายเกษตรกรไทยได้

 สุดท้ายแล้วสิ่งที่เลี้ยงหมูทุกคนอยากฝากไว้คือ ขอให้รัฐบาลทบทวนให้ดี “อย่ายอมให้หมูสหรัฐเข้ามาทำลายสุขภาพคนไทยและหมูไทย” อย่าให้อุตสาหกรรมหมูและซัพพลายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบที่สร้างเศรษฐกิจชาติปีละกว่า 373,000ล้านบาท ต้องล่มสลาย อย่าให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้ง 195,000 ราย ต้องล้มหายตายจาก อย่าให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืช ทั้งรำข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย ที่มีผู้ประกอบการรวมกันมากกว่า แสนราย ต้องล้มไม่เป็นท่า ขอให้รัฐบาลอย่าปล่อยให้เป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตจนสายเกินแก้

 

 

No Comments

    Leave a Reply