News

ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างฯ มีน้อยและจำกัด ขอทุกภาคส่วนใช้ตามแผนอย่างเคร่งครัด

23/12/2019


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(23 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 47,694 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,846 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,264 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,568 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (23 ธ.ค. 62) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 4,651 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 1,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธ.ค. 62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.83 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.10 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.39 ล้านไร่(เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.27 ล้านไร่) ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูกกรมชลประทาน ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลองสายหลักต่างๆ ตั้งแต่คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภา อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่ลุ่มร้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน

No Comments

    Leave a Reply