News

กยท. ชี้สถานการณ์ยางพาราไตรมาส 3 แนวโน้มราคายางพาราดีขึ้น จากผลกระทบเอลนีโญ

21/08/2023

การยางแห่งประเทศไทย ระบุ ผลกระทบจากเอลนีโญ ส่งผลให้ราคาซื้อขายยางพารามีแนวโน้มดีขึ้น วอนเกษตรกรชาวสวนยางลงพิกัดแปลง เพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนิดยางตามข้อบังคับ EU ครบกำหนดสิ้นปี 67

สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย – 16 สิงหาคม 2566 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นำทีมแถลงบทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไตรมาส 3/2566 ซึ่งมีนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าววิเคราะห์สถานการณ์ยาง โดยสรุปว่า จากปรากฎการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก มีผลต่อผลผลิตภาคการเกษตรที่ลดลง รวมถึงยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของหลายประเทศ โดยเฉพาะแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ส่งผลให้ ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 แม้สต๊อกผลิตภัณฑ์จากยางพาราจะมีอยู่ แต่การที่ผลผลิตลดลง แต่ความต้องการโลกเพิ่มมากขึ้น จากสต๊อกผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่เสื่อมสภาพลง จึงเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาซื้อขายยางพาราปรับตัวสูงขึ้นได้

ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวอีกว่า จากการชะลอตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั่วโลกมีผลให้การส่งออกลดลง โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราแปรรูปสะสมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสะสมระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 ลดลงร้อย 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม กยท. ยังคงเฝ้าระวังแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อย่างต่อเนื่อง

นางสาวอธิวีณ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นวิธีการที่ กยท. จะช่วยให้เกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในผลผลิตยางพาราส่งออก เกษตรกรต้องเข้าระบบการใช้งาน RAOT GIS ในการลงพิกัดสวนยางพารา รองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดยาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กยท. เข้าสำรวจแปลงสวนยางพารา เนื่องจากข้อบังคับของ EU ในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งกำเนิดยาง ได้รับการยืดระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2567 เพื่อให้ผู้นำเข้าปรับตัวกับกฎหมายนี้ แต่หากพบว่าไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของยางพารานั้นได้ ผู้นำเข้าจะถูกปรับร้อยละ 4 ของมูลค่าสินค้านั้นๆ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า EU ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพแวดล้อมในภาพรวมของสวนยางพารา อาทิ การใช้แรงงานภายในสวนยาง การใช้สารเคมีในสวนยาง หรือการไม่ทำลายระบบนิเวศแวดล้อมของสวนยาง ซึ่งเรื่องนี้ทาง กยท. จะเดินทางไปพบ EU ในเดือนหน้า เพื่อนำเสนอการนำเข้ายางให้ EU พิจารณารูปแบบการนำเข้าของประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่างค่อนข้างสูง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง ตนจะพยายามผลักดันให้เกษตรกรทำสวนยางพารา ลงพิกัดแปลงให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้

No Comments

    Leave a Reply