News

รองฯเฉลิมเกียรติฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

02/03/2021

วันนี้ (2 มีนาคม 2564) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ รักษาราชการแทนรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมติดความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 นายอำพล ฤทธิ์มณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณเขื่อนพระราม 6 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามแผนการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งจะช่วยรองรับการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้น 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับท่อระบายน้ำปากคลองระพีพัฒน์เดิมที่รองรับการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักได้สูงสุดเพียง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และประตูระบายน้ำพระนารายณ์ที่รองรับการระบายน้ำได้สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาคารระบายน้ำทั้งหมดจะรองรับการผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ที่อัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งยังช่วยระบายน้ำที่เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก และบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ตำบลสนามชัย อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีความคืบหน้าโครงการฯร้อยละ 12 เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นคลองขุดใหม่ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการตัดยอดน้ำบางส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองขุดใหม่ ลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ช่วยบรรเทาความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเฉลี่ย 1.9 – 2.5 ล้านไร่ต่อปี และช่วยลดระดับความลึกของน้ำท่วมลงได้ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

No Comments

    Leave a Reply