News

ชป.ย้ำบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ลดผลกระทบภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

18/06/2022

กรมชลประทาน ยืนยันบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่วางไว้ ย้ำน้ำอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก มีการกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอ ทั่วถึงและเป็นธรรม ภายใต้สถานการณ์น้ำต้นทุนในแต่ละปี จนสามารถจัดสรรน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และการผันน้ำส่วนหนึ่งจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยเสริมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ตามมติครม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2564/65 พบว่าการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่พบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2565 พื้นที่ทำนาปรังกว่า 4.41 ล้านไร่ มีการเก็บเกี่ยวเกือบทั้งหมดแล้ว เฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีการทำนาปรัง 179,412 ไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 38 (แผนการทำนาปรังตั้งไว้ 130,372 ไร่) ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตครบทุกพื้นที่แล้ว และไม่พบผลผลิตในพื้นที่ชลประทานได้รับความเสียหายจากภัยแล้งแต่อย่างใด

สำหรับในช่วงฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของคณะรัฐมนตรีที่มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ ในส่วนของการวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565 พบว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,511 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนระบายน้ำจากเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 4,350 ล้านลูกบาศก์เมตร (รวมปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงฤดูฝนด้วย) สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี 2565 เพื่อให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จำนวน 0.265 ล้านไร่ และพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 10 ทุ่ง จำนวน 0.95 ล้านไร่ ใช้น้ำตลอดการเพาะปลูก 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หน ทุ่งบางบาล และทุ่งโพธิ์พระยา (ไม่รวมทุ่งรับน้ำผ่าน)

ส่วนพื้นที่ดอนของลุ่มเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมประมาณ 6.88 ล้านไร่ ให้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 หรือมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน 2565 มีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 1,463 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ทำนาปีไปแล้วกว่า 5.70 ล้านไร่ เฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีการทำนาปีไปแล้วประมาณ 437,780 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 568,310 ไร่) โดยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จะใช้น้ำจากการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำฝน-น้ำท่า เพื่อให้สามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้ทั้งหมดจนเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ

ด้านปัญหาวัชพืชในลำคลอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำเน่าเสีย และกีดขวางการไหลของน้ำ ส่งผลให้การระบายน้ำทำได้ยาก ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดเก็บวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นประจำทุกปี แต่ก็ไม่สามารถจัดเก็บได้หมด เนื่องจากวัชพืชโดยเฉพาะผักตบชวามีการขยายและแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการ “หยุด เก็บ บ่อย” 3 คำนี้มีที่มา “หยุด” คือ การหยุดการแพร่กระจายจากทางน้ำที่ดูแลออกสู่ภายนอกโดยการใช้ทุ่นสกัด “เก็บ” คือ การเก็บใหญ่โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรเมื่อวัชพืชสะสมหนาแน่นในคลอง โดยใช้แบ็คโฮลงโป๊ะในการเก็บใหญ่ตลอดคลอง และ “บ่อย” คือ การใช้เรือนวัตกรรมขนาดเล็ก ที่กรมชลประทานได้ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ 1 คน ต่อ 1 ลำ หรือใช้แรงงานคนเก็บย่อยตามหลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีวัชพืชสะสมและขยายพันธุ์จนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรืออุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะลุล่วงไปได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันในการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ

No Comments

    Leave a Reply