News

ชป.เดินหน้าบริหารจัดการน้ำท่าอย่างมีประสิทธิภาพ หลังอุตุฯเตือนยังมีฝนกระจายทั่วทุกพื้นที่

20/06/2022

วันนี้(20 มิ.ย.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบัน (20 มิ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,909 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 34,175 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,017 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,854 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 20-21 มิ.ย.65 จะมีปริมาณฝนลดลง และจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 22-26 มิ.ย.65 โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เพื่อให้การบริหารน้ำท่าเกิดประโยชน์สูงสุด เน้นย้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้อยู่เกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้อย่างทั่วถึง และเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำจัดผักตบชวาไม่ให้ไหลลงไปสะสมในแม่น้ำสายหลัก และขอให้สำรวจพื้นที่ก่อสร้างที่มีน้ำไหลผ่าน ให้ดำเนินการจัดทำทางเบี่ยงน้ำให้สามารถไหลผ่านพื้นที่ก่อสร้างได้ เท่ากับปริมาณน้ำที่เคยไหลผ่านเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อมีสถานการณ์วิกฤตน้ำมาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

No Comments

    Leave a Reply