News

ชป.ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ  

29/11/2021

เช้าวันนี้(29 พ.ย.64)ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทาน เครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา)  ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (29 พ.ย. 64)  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,327 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,397  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,860   ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 8,164 ล้าน ลบ.ม.

อนึ่ง เนื่องจากขณะนี้ได้สิ้นสุดฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่พิจารณาเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกับติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์กรมหาชน)(สสน.) และกรมอุทกศาสตร์  เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด  โดยใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำให้แจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน  ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน จะใช้ระบบโทรมาตรในการติดตามปริมาณน้ำ นำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อทำการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและรับมือได้อย่างทันท่วงที  นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply