News

‘อนุทิน’ คิกออฟ 1 ตุลาคม 62 นำร่องรับยาใกล้บ้าน 50 ร.พ. – 500 ร้านยา สะดวกปลอดภัย-ลดปัญหาผู้ป่วยแออัด รอคิวนาน

16/09/2019

‘อนุทิน’ คิกออฟ 1 ตุลาคม 62
นำร่องรับยาใกล้บ้าน 50 ร.พ. – 500 ร้านยา สะดวกปลอดภัย-ลดปัญหาผู้ป่วยแออัด รอคิวนาน
หนึ่งใน Pain Point หรือปัญหาซ้ำซากที่ผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่น่าจะต้องเคยเผชิญเวลาไปโรงพยาบาล ก็คือ

ขั้นตอนกระบวนการตรวจ จ่ายเงิน รับยา ใช้เวลานาน บางทีอาจครึ่งค่อนวัน ถึงขนาดต้องลางาน หยุดงาน เพื่อไปโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว เนื่องจากมีผู้ไปใช้บริการจำนวนมากจนแออัด

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงมีแนวคิดมอบหมายนโยบายให้ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), และสภาเภสัชกรรม เดินหน้าโครงการจัดบริการให้ “ผู้ป่วย” สามารถรับยาที่ร้านขายยาคุณภาพ หรือที่มีชื่อแคมเปญเรียกว่า “ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น” ตามมาตรฐาน “ขย.1” ใกล้บ้านได้

จุดประสงค์ก็เพื่อแก้ปัญหารอคิวรับยานาน และลดความแออัดของผู้ใช้บริการภายในโรงพยาบาล !

โดยเมื่อแพทย์ตรวจเสร็จแล้ว ภายหลังจากรับใบสั่งยา ผู้ป่วยก็เอาใบดังกล่าว ไปรับยา-ซื้อยาที่ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น ขย.1 ใกล้บ้าน ซึ่งได้รับการตรวจสอบผ่านเกณฑ์พร้อมลงทะเบียนเป็นเครือข่ายกับทางโรงพยาบาลดังกล่าวได้เลย

ไม่ต้องมา “เสียเวลารอจ่ายยา” ที่โรงพยาบาลนั่นเอง !

เบื้องต้นแนวคิดดีๆ นี้เป็น “โครงการนำร่อง” และในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้จะเริ่มคิกออฟใช้กับ 50 โรงพยาบาลและ 500 ร้านขายยาคุณภาพทั่วประเทศ ให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยที่ถือบัตรทอง

จำกัดการจ่ายยาเฉพาะผู้ป่วย “4 โรค” กลุ่มเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องกันก่อนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม ประกอบด้วย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช

“เรื่องนี้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความมั่นใจของผู้ป่วยต่อยาที่ได้รับจากร้านยาคุณภาพ จะต้องเป็นยาตัวเดียวกันเหมือนกับที่ได้รับจากโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ป่วยได้ ส่วนกรณีหากจำเป็นต้องเปลี่ยนยาต้องเป็นการสั่งเปลี่ยนจากหมอหรือโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ใช่ร้านยาเปลี่ยนเอง และเมื่อระบบนี้เดินไปจุดหนึ่งเชื่อว่าจะมีร้านขายยาคุณภาพเข้าร่วมเพิ่มเติม” นายอนุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าว

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ “ไม่บังคับ” ให้ทุกโรงพยาบาลและผู้ป่วยต้องทำ เพราะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดได้กระจายให้ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อยู่แล้ว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ป่วยและโรงพยาบาลเองว่าจะ “เลือก” แบบใด จะรับยาที่ร้านขายยาหรือรับยาที่โรงพยาบาลเหมือนเดิมก็สุดแล้วแต่ความสะดวก

เป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่ “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จากทางกระทรวงสาธารณสุข ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมรายชื่อโรงพยาบาลและเครือข่ายร้านยาในช่วงนำร่องที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วยที่ใดบ้าง สามารถเช็กรายชื่อได้จากข้อมูลในลิงก์และคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้

หมายเหตุ : ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย สามารถสอบถามข้อมูลร้านยาที่ร่วมโครงการกับทางโรงพยาบาลได้เลย หรือคลิกเช็กรายละเอียดโรงพยาบาลและร้านขาเครือข่ายที่ร่วมโครงการทั้งหมด ได้ผ่านลิงก์

 

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก : Matichononline -มติชนออนไลน์

No Comments

    Leave a Reply