กรมชลประทาน ยืนยันชาวโคราชมีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้ ขอสงวนน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 88.44 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 12.98 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 8 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำ 24.42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 17 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำแซะ มีปริมาณน้ำ 37.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ รวมปริมาณน้ำทั้ง 5 อ่างฯ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 182 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 18 ของความจุอ่างฯรวมกัน กรมชลประทาน ได้วางแผนระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคประมาณวันละประมาณ 0.257 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีฝนตกลงชุกมาในพื้นที่จะหยุดการระบายน้ำและใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด
สำหรับแผนการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำนักงานชลประทานที่ 8 ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนสิ้นกรกฎาคม 2563 ส่วนแผนการเพาะปลูกนาปี ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ เริ่มการปลูกข้าวได้โดยมีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้ 1.) เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน 2.) มีฝนตกต่อเนื่อง และ 3.) มีน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียงพอแก่การเตรียมแปลง โดยคาดว่าจะเริ่มการปลูกข้าวได้ประมาณปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ลงไปสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
No Comments