SOCIAL HOT

นาซาส่งยาน “ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” ขึ้นสำรวจดวงอาทิตย์

12/08/2018

นาซาส่งยาน ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ด้วยจรวดเดลต้า 4 เฮฟวี เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ โดยยานลำดังกล่าวจะเข้าไปสำรวจใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นเวลา 7 ปี

วันที่ 12 ส.ค.61 สื่อต่างประเทศรายงานว่า องค์การบริหารการบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา ประสบความสำเร็จในการปล่อยยาน “ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (Parker Solar Probe) โดยใช้จรวดเดลต้า 4 เฮฟวี เป็นตัวส่งยานขึ้นสู่อวกาศ ณ ฐานปล่อยจรวดแหลมคานาเวรัล รัฐฟลอริดา ซึ่งการปล่อยยานครั้งนี้มีขึ้นในนาทีสุดท้ายก่อนที่สภาพอากาศจะปิด

โดยทางนาซาได้ประกาศแผนดำเนินโครงการนี้เมื่อปี 2009 โดยใช้งบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5 หมื่นล้านบาท) โดยยานสำรวจมีกำหนดการโคจรรอบดวงอาทิตย์นาน 7 ปี โดยจะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศบางส่วนของดวงอาทิตย์ แล้วจะเข้าใกล้พื้นผิวมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจมาก่อน ซึ่งเป้าหมายหลักของการเก็บข้อมูลในครั้งนี้คือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า “โคโรนา” ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงที่มาและพัฒนาการของลมสุริยะ

ทางนาซาได้เปลี่ยนชื่อยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำนี้จากเดิมคือ “โซลาร์โพรบพลัส” มาเป็น “พาร์กเกอร์ โซลาร์โพรบ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ยูจีน ปาร์กเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านลมสุริยะ ด้าน ศ.จัสติน แคสเปอร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนและเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของโครงการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า “ยานปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบจะช่วยให้เราสามารถทำนายการรบกวนของลมสุริยะกระทบกับโลกได้มากขึ้น การรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลมสุริยะและพายุอวกาศซึ่งจะช่วยปกป้องนักสำรวจอวกาศระหว่างที่พวกเขาเดินทางไปยังดวงจันทร์หรือดาวอังคารในอนาคต

ทั้งนี้ยานอวกาศได้รับการปกป้องจากการความร้อนระหว่างการโคจรใกล้กับดวงอาทิตย์ โดยใช้เกราะป้องกันความร้อนซึ่งมีความหนา 4.5 นิ้ว (11.43 เซนติเมตร) ผู้พัฒนากล่าวว่าเกราะป้องกันความร้อนนี้สามารถทนความร้อนได้มากกว่า 1 ล้านองศาฟาเรนไฮต์ (5 แสนองศาเซลเซียส) โดยด้านในของยานอวกาศจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 85 องศาฟาเรนไฮต์ (29 องศาเซลเซียส)

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย Workpoint News

No Comments

    Leave a Reply