LIFE STYLE

ใช้ชีวิตฮื้อมีความสุขกับโรคลมชัก

09/07/2019

โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถควบคุมและรักษาให้หายขาดได้ แต่เนื่องจากความไม่เข้าใจของสังคม ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งต้องพบกับปัญหาในการดำรงชีวิตและเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง เนื่องจากอคติและการไม่ยอมรับจากสังคม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการศึกษาตามระบบหรือไม่สามารถหางานทำได้ ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6-7 แสนคน โดยมีทั้งผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการชักและมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายก็มีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างมีอาการชัก เนื่องจากการขาดอากาศในกรณีที่ชักต่อเนื่องไม่หยุด และหากคุมอาการชักได้ไม่ดีผู้ป่วยอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดกิจกรรม “ค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “ใช้ชีวิตฮื้อมีความสุขกับโรคลมชัก” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลมชักและการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมให้กับคนในสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคลมชักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ครอบครัวหรือผู้ดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย เช่น ครูหรือพยาบาลในโรงเรียน รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป สำหรับการจัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชักนั้น ทางศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเป็นสาธารณประโยชน์ประจำทุกปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆพญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์ กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา รองประธานและกรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก  มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักให้แพร่หลาย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยโรคลมชัก กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาวิชาการ เช่น แนะนำอาการของโรคลมชัก อธิบายขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษา แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ถูกต้อง รวมถึงเทคนิคในการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ นอกจากนั้น ในค่ายผู้ป่วยโรคลมชักช่วงปีหลังๆ ยังมีกิจกรรมพิเศษ เช่น การแสดงความสามารถของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความสามารถทางดนตรีมาโชว์การเล่นเครื่องดนตรี เช่น อูคูเลเล่และเป่าแซกโซโฟน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะที่สนใจได้ต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ยังได้เชิญตัวแทนผู้ป่วยที่เคยเข้าค่ายมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันจบการศึกษาและประกอบอาชีพที่มั่นคงด้วยการเป็นนักกายภาพบำบัด มาแบ่งปันประสบการณ์การดูแลตนเองว่า ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติหากควบคุมอาการชักได้ดี จะไม่มีปัญหาด้านการเรียน ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคลมชักคนอื่นๆ ไม่โดดเดี่ยวและพร้อมต่อสู้กับโรคนี้ ให้สามารถใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จโรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ประสาทและกระแสไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติชั่วขณะ ทำให้ร่างกายแสดงอาการบางอย่างโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว เช่น เกร็ง กระตุก น้ำลายยืด ปากเขียว ซึ่งเป็นอาการที่สังเกตได้ง่าย อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการบางอย่างที่สังเกตได้ยาก เช่น เหม่อ ซึม เรียกแล้วไม่ตอบสนองช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับเป็นปกติ ผู้ดูแลจึงต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปอาการชักจะหยุดเองภายใน 3 นาที แต่หากมีอาการนานเกินกว่า 5 นาที หรือหากผู้ป่วยมีอาการเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว มีอาการเขียว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สำหรับการดูแลรักษา ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการไข้หรือเจ็บป่วย การขาดยากันชัก จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักคือ ทำให้อาการชักของผู้ป่วยลดลงเป็นศูนย์หรือเหลือน้อยที่สุด หากมีอาการ ก็รุนแรงน้อยที่สุด เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียใดๆ

“โรคลมชักเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ที่สำคัญคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักและการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่จะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้ถึงร้อยละ 70 เหนือสิ่งอื่นใดคือเราต้องการส่งเสียงออกไปในสังคมวงกว้างว่า ผู้ป่วยโรคลมชักนั้นจริงๆ แล้วเขาคือบุคคลที่เป็นปกติ พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้เพียงแค่คนในสังคมให้โอกาสและพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการรับมือ เช่น ถ้าเห็นผู้ป่วยมีอาการชัก ก็รู้ได้ว่าควรช่วยปฐมพยาบาลและดูแลอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งคือ การที่ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ หากควบคุมโรคได้ดี พวกเขาจึงถือเป็นกำลังสำคัญของชาติ จึงอยากขอให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยพิจารณาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักให้ทั่วถึง เช่น บรรจุรายการยาสำหรับโรคลมชักให้ครอบคลุมในทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยทุกกลุ่มเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับตนเองที่สุด นอกจากนั้น หากต้องมีการรักษาโรคลมชักเพิ่มเติมเช่นผ่าตัด ก็ควรจะมีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีโอกาสใช้ศักยภาพในการเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศได้อย่างเต็มที่” พญ.กมรวรรณ กล่าว

นางกาญจนา ณ บางช้าง มารดาของเด็กหญิงจิรชยา หรือน้องออม วัย 5 ขวบ กล่าวว่า “น้องออมเริ่มมีอาการชักเมื่ออายุได้ 1 เดือน โดยแขนกระตุกวันละ 3-4 ครั้ง คุณหมอรักษาโดยให้รับประทานยากันชักทุกวัน ตอนเช้าและตอนเย็น ทุกวันนี้อาการของน้องดีขึ้นมาก อาการชักแขนกระตุกเหลือเพียงเดือนละประมาณ 10 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น ก่อนหน้านี้ แม่ก็กังวลว่าน้องอาจไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ แต่พอได้เข้าค่ายโรคลมชัก ได้พบคนที่มีอาการรุนแรงกว่าลูกเราที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ แม่ก็มีกำลังใจว่า ไม่ว่าลูกจะหายขาดจากโรคนี้ได้หรือไม่ แต่ลูกจะสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้แน่นอน เพราะโรคนี้สามารถควบคุมได้ ถ้าเราดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้ แม่อยากวิงวอนถึงผู้ที่มีอำนาจขอให้พิจารณาเพิ่มจำนวนยากันชักในสิทธิบัตรทองให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้น้องสามารถใช้สิทธิบัตรทองเบิกยาบางชนิดเพื่อรักษาได้”

นางวิลาวัลย์ โอริส มารดาของเด็กชายอารักษ์ หรือน้องปิง วัย 11 ขวบ กล่าวว่า “น้องปิงเริ่มเป็นโรคลมชักตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มีอาการคือ ชักเกร็ง ตัวเขียว พูดไม่ชัด และไม่รู้สึกตัว นับจากวันนั้น น้องมีอาการชักรวมทั้งหมด 4 ครั้ง แม่พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอทุกอย่าง โดยเฉพาะการให้น้องทานยาเป็นประจำ ไม่นอนดึก พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำกิจกรรมผาดโผนเกินไป และให้น้องลองเล่นดนตรีด้วย จึงพบว่าน้องรักการเล่นดนตรีและมีพรสวรรค์มาก น้องสามารถเล่นได้ดีทั้ง อูคูเลเล่ กีตาร์ กีตาร์เบส กลอง และอื่นๆ แม่จึงคิดว่าเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความโชคร้าย การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายโรคลมชัก นอกจากจะได้รับความรู้ที่มีประโยชน์จากคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญแล้ว แม่ยังได้รู้ว่าตัวเองโชคดีมากที่อาการของน้องดีกว่าเพื่อนๆ หลายคนมาก ทำให้แม่รู้สึกเห็นใจและอยากช่วยเหลือน้องๆ เหล่านั้น และแม่ก็สัมผัสได้ว่าทุกคนต่างยินดีที่จะให้กำลังใจและช่วยเหลือกันและกัน

นายเฉลิมชัย เตียววิจิตรศรีใส ครูพยาบาล โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้พร้อมกับครูและนักเรียนที่เป็นโรคลมชัก กล่าวว่า “โรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นโรคลมชักประมาณ 10 คน ซึ่งแต่ละเดือนจะเกิดเหตุการณ์นักเรียนชักประมาณสองถึงสามครั้ง การได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายโรคลมชักนับเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมายจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ทั้งด้านสาเหตุของโรค การดูแลตัวเอง และการรับมือเมื่อเกิดอาการชัก ซึ่งนอกจากจะนำไปปฏิบัติได้จริงแล้ว ยังสามารถส่งต่อความรู้นี้ให้กับคนอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ เด็กๆ ยังรู้สึกสนุกสนาน ได้ความรู้ และได้เปิดหูเปิดตา เพราะได้เที่ยวชมสวนพฤกษศาสตร์ จึงอยากนำผู้ที่เกี่ยวข้องและเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมอีกหากมีการจัดขึ้นในครั้งต่อไป”

โรคลมชักเป็นโรคที่ควบคุมได้และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ การให้โอกาสผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสการยอมรับจากสังคม จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคลมชักและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เสริมศักยภาพให้สังคมและประเทศชาติต่อไป

 

 

No Comments

    Leave a Reply