News

องคมนตรี ติดตามงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

08/07/2022

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจหรือออกแบบ) พร้อมด้วย นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ พร้อมรายงานแนวทางการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ในการนี้ องคมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยังบริเวณอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินการและพบปะราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนฯ ณ แปลงนานายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านโนนสูง ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง พร้อมเยี่ยมชมหมู่บ้านเกษตรกรเครือข่ายโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน บ้านแดนสามัคคี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) อำเภอเขาวง

สำหรับการพัฒนาโครงการลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 4,600 ไร่
มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ จากโครงการ 507 ครัวเรือน 1,500 คน ผลผลิตเฉลี่ยข้าวนาปีเพิ่มจาก 273 กก.ต่อไร่เป็น 546 กก.ต่อไร่ ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 40 ล้านบาทต่อปี

ส่วนโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ส่งมาแบ่งปันให้กับพี่น้องอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยเหลือเกษตรกรได้กว่า 12,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยฤดูฝน ข้าวนาปี (ข้าเหนียว กช.6) เดิม 273 กก.ต่อไร่เพิ่มเป็น 564 กก.ต่อไร่ (คิดเป็น 106%) และพืชไร่ในฤดูแล้ง อาทิ ข้าวโพด ใบยาสูบ เฉลี่ยพื้นที่ปีละ 500 ไร่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

No Comments

    Leave a Reply