วันนี้(2 ธ.ค. 62) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ-ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกัน-และบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต-แห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อประเมินและติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 3-7 ธันวาคม 2562 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวอุณหภูมิจะลดลง 5-10 องศาเซลเซียส สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(2 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,046 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 25,164 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,633 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 4,937 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องบริหารจัดการน้ำตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด จะใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น
ด้านแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2562 ทั้งประเทศ ได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (2 ธ.ค. 62) มีการนำน้ำไปใช้ไปแล้วประมาณ 2,774 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการใช้น้ำ(เริ่ม 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63)ไว้ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 811 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบน ทำให้แม่น้ำโก-ลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำบางนรา มีปริมาณน้ำมากจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ โดยที่คลองตันหยงมัส บริเวณบ้านตันหยงมัส อำเภอระแงะ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร ส่วนแม่น้ำโก-ลก บริเวณ อำเภอสุไหงโก-ลก ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร กรมชลประทาน ได้เร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณอำเภอเมืองนราธิวาส จำนวน 7 เครื่อง และที่อำเภอเจาะไอร้อง อีก 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในพื้นที่ตอนบนของประเทศ อยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะเน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ส่วนด้านการเกษตร(ข้าวนาปรัง) ปริมาณน้ำมี ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน จึงขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมให้การช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th
No Comments