News

มกอช. ประสบความสำเร็จ สร้าง Q อาสา เสริมการรับรองการผลิตอาหารปลอดภัยในระบบแปลงใหญ่

28/02/2019

 

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้สร้างQ อาสาขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่าง มกอช.กับเกษตรกร ให้คำปรึกษาเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ผลิตพืชอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้นำกลุ่มเกษตรกร ตัวแทนสภาเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต การจัดการแปลงพืชผักให้เป็นไปตามมาตรฐานผ่านการรับรอง

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง มกอช. ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด 9จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สระแก้ว พัทลุงกำแพงเพชร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครนายก นำ Q อาสา ไปตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ หรือพื้นที่ทั่วไป ที่ยื่นขอการรับรอง GAP และให้คำแนะนำแก่เกษตรว่า จะต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติในเรื่องอะไร/อย่างไร ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลัก 100% และข้อกำหนดรองไม่น้อยกว่า 60% เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา Q อาสาได้ปฏิบัติงานร่วมตรวจประเมินแปลงและให้คำแนะนำ จำนวน 619 แปลง จนสามารถผ่านการรับรอง ร้อยละ 74.96

ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่แปลงใหญ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบล ปากช่อง และ ตำบล ลานบ่า อำเภอ หล่มสัก นับว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตพืชที่สำคัญของเมืองไทย มีทั้งพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ ซึ่งเกษตรกรในระบบแปลงใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารปลอดภัยมากขึ้น ทั้งปลอดภัยต่อผู้บริโภค และ ปลอดภัยต่อตนเอง ดังนั้นการให้คำแนะนำของ Q อาสา ต่อเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนการปฏิบัติให้สอดคล้องตามเกณฑ์การรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร จึงเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันให้แปลงเกษตรกรผ่านการรับรอง GAP รวดเร็วขึ้น โดยในตำบล ปากช่อง ซึ่งเป็นแปลงใหญ่พืชผักนั้น ในปี ปี2561 Q อาสาได้เข้าตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น ของเกษตรกร จำนวน 50 ราย ปี2562 จำนวน 20 ราย ส่วนในตำบล ลานบ่า ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ส้มโอ Q อาสาได้เข้าตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น ในปี 2562 จำนวน 30 ราย


เลขาธิการ มกอช. ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า คิวอาสาที่เป็นตัวแทนแต่ละพื้นที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ทั้งจากการฝึกอบรมและ การปฏิบัติงานจริงมาใช้ในการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น (Pre audit) พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินแปลง GAP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้กรมวิชาการเกษตรสามารถตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ทาง มกอช. ยังได้พัฒนาเครือข่าย Q อาสา ให้เป็นเครือข่าย ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนั้นคือ ความสำเร็จคิวอาสา ของ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช.

No Comments

    Leave a Reply