PR NEWS

เรื่อง “หมู” กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

22/02/2022

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อกันเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลในประเด็นต่างๆ หนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบจับมาอภิปราย คือเรื่อง “หมู” จากความร้อนแรงของกระแส

เมื่อฟังการอภิปรายของสส.ฝ่ายค้านจนจบ ก็เห็นว่าบางประเด็นแสดงถึงความห่วงใยและเข้าใจเกษตรกร เช่น ปัญหาภาวะโรคที่เกษตรกรต้องแบกรับ รวมไปถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่และการบริโภคที่น้อยลง ที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องเลิกกิจการ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีการออกมาตรการมาแก้ปัญหาดังกล่าว และไม่มีการออกมาตรการหรือเงินทุนมาช่วยผู้เลี้ยงหมู

ทว่ายังมีบางประเด็นที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ารัฐอาจปกปิดเรื่อง ASF จนเป็นต้นเหตุให้หมูแพง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ASF เป็นโรคที่อุบัติขึ้นบนโลกเมื่อ พ.ศ.2464 หรือ 100 ปีที่ผ่านมา ความน่ากลัวของโรคนี้คือ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากฟาร์มใดมีการติดเชื้อจะเกิดความสูญเสีย 100% ที่ผ่านมามีกระแสข่าวในวงการหมูเรื่องโรค ASF ที่เริ่มแพร่ระบาดในทุกประเทศรอบไทย ทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความวิตกกังวล เร่งเทขายหมูออก และพักโรงเรือนไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์โรค แต่แล้วก็มีโรคโควิด-19 เข้ามาสำทับ กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ทำให้เกษตรกรยิ่งไม่มั่นใจในอาชีพ กระทั่งต้องเลิกเลี้ยงหมูไปในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เป็นทุกข์ของผู้เลี้ยงมานานกว่า 3 ปี ซึ่งเวลานั้นแทบไม่มีใครสนใจมองปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญมาตลอด จนเมื่อราคาเนื้อหมูเริ่มขยับขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สปอร์ตไลท์จึงฉายมาที่เขียงหมูและคนเลี้ยงหมู จนหมูกลายเป็นสินค้าการเมืองที่หลายฝ่ายใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีอีกฝั่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความรุนแรงของโรคนี้ จึง “ไม่อาจปกปิดได้” ขณะที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยืนยันว่า ไม่มีการปกปิดทั้งสิ้น และมันไม่เป็นประโยชน์กับใครทั้งสิ้น นายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเอง พร้อมประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้ไม่มีใครปิดบังกันได้ ทุกฝ่ายทราบดี เกษตรกรเองก็ทราบถึงมาตรการต่างๆ จึงได้เกิดความร่วมมือในการป้องกันโรค ASF ในไทย มานานกว่า 3 ปีเต็มขึ้น ภาครัฐดำเนินมาตรการทุกอย่าง รวมถึงการชดเชยให้เกษตรกรรายเล็กรายย่อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเท่าฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่การจ่ายเฉพาะกรณีเป็นโรคนี้เท่านั้น ยังดูแลไปถึงกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ที่ต่างได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และย้ำว่า “ไม่มีการเอื้อให้กับนายทุนใหญ่ทั้งสิ้น สามารถตรวจสอบเอกสารราชการได้เลยว่ามีบริษัทใดที่ส่งชิ้นส่วนหมูไปต่างประเทศบ้าง”

ส่วนข้อที่ว่า การที่กรมปศุสัตว์ออกมายอมรับล่าช้าว่าฟาร์มใหญ่ติดโรคเกือบทั้งหมด ถือเป็นการชะลอปัญหา ด้วยเกรงว่าเจ้าของฟาร์มหมูรายใหญ่จะเสียประโยชน์หรือไม่ ประเด็นนี้สะท้อนว่าไม่ทำการบ้านทั้งที่มีข้อมูลมากมาย เพราะในความเป็นจริง ฟาร์มที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่คือเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็ก ที่บางส่วนยังไม่มีระบบป้องกันโรคที่เหมาะสม และส่วนมากแล้วจะเป็นเกษตรกรที่หวั่นเกรงกับเรื่องโรค จากการปล่อยข่าวของพ่อค้าคนกลางเพื่อทุบราคาขาย ทำให้เกษตรกรต้องเร่งขายหมูออกตามการชี้ชวนของพ่อค้า เมื่อถึงเวลาต้องเข้ามาในระบบก็เกิดไม่มั่นใจว่าราคาหมูจะกลับมาดีขึ้นเมื่อใด บางรายรอไม่ไหวก็ถึงกับต้องม้วนเสื่อเลิกเลี้ยงหมูกันไป เพราะกลัวทั้งโรคหมู โรคคน รวมถึงต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นทุกวัน และส่วนใหญ่ไม่อาจแบกรับภาระขาดทุนได้อีกต่อไป

ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ส่วนมากไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรค เนื่องจากมีการลงทุนในระบบป้องกันโรค (Biosecurity) เพื่อไม่ให้โรคหมูและโรคคนเข้ามาในฝูงสัตว์ได้ โดยแลกกับการต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่เพื่อการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุด หมายถึงต้นทุนการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่สูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ บริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่และรายย่อยที่เลี้ยงหลักร้อยตัวยังได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนชดเชยและป้องกันโรค ASF ขึ้น มีการลงขันระดมทุนได้ประมาณ 200 ล้าน เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันโรค และบริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่แต่ละรายยังร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างด่านทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อใน 5 ด่านพรมแดนหลัก เพื่อป้องกันโรคที่อาจติดมากับรถขนส่งสินค้าข้ามแดน กองทุนนี้ถือเป็นจุดร่วมการทำงานเพื่อยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ในหลายด้าน

ปัญหาหมูที่เกิดขึ้น กำลังคลี่คลาย ราคาหมูลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามกลไกตลาดที่ทำงานได้อย่างเสรี แนวทางการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนไปด้วยดี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมหมู คนเลี้ยงหมู คนขายหมู รวมถึงสร้างอาหารปลอดภัยส่งต่อแก่ผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่คนเลี้ยงทุกคนต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ทุกฝ่ายเร่งร่วมมือกันทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อผลักดันให้ระบบการเลี้ยงกลับมาเป็นปกติ การบริโภคกลับมาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพแก่ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง./

No Comments

    Leave a Reply