News

ซีพีเอฟ ส่งเสริมศักยภาพเด็กไทยเข้าถึงการศึกษา ร่วมขับเคลื่อน”คอนเน็กซ์ อีดี”

20/09/2023


ด้วยความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคเอกชน ให้มีบทบาทร่วมยกระดับการศึกษาของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ” จึงมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง สานต่อความร่วมมือสนับสนุนมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED)ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการฯในปีแรก จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 8 ที่ซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 50 องค์กร ส่งเสริมเด็กไทยเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 5,570 โรงเรียน ในความดูแลของมูลนิธิ CONNEXT ED เป็นโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของซีพีเอฟ 302 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี โดยในปี 2560-2566 ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโครงการต่างๆของโรงเรียนไปแล้ว 351 โครงการ และในปีการศึกษา 2566 ได้พิจารณาโครงการของโรงเรียนเพื่อสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจำนวน 74 โครงการ ทั้งด้านวิชาการ ด้านเกษตร และด้านวิชาชีพ อาทิ โครงการ Active Learning โครงการ STEM : Coding โครงการ Smart Kid-English โครงการฟาร์มไก่พันธุ์ไข่อัจฉริยะ โครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โครงการเกษตรผสมผสาน และโครงการร้านกาแฟเด็กน้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการด้านเกษตรและวิชาชีพซึ่งตรงกับความรู้และความเชี่ยวชาญที่ซีพีเอฟมีอยู่ สามารถให้คำแนะนำคุณครูและนักเรียน ร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผลักดันการดำเนินโครงการจนประสบความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆได้ เช่น โครงการฟาร์มไก่พันธุ์ไข่อัจฉริยะ เป็นโครงการที่ซีพีเอฟส่งสัตวบาลให้คำแนะนำการเลี้ยงไก่ การดูแลไก่ การให้อาหาร ฯลฯ โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย เป็นโครงการที่โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือในการดูแลความพร้อมด้านพื้นที่ วิทยากรจากสตาร์คอฟฟี่ หนึ่งในแฟรนไชส์ธุรกิจห้าดาวให้ความรู้ และให้คำแนะนำด้านการตลาด ฯลฯ สอดรับกับนโยบายของบริษัที่ส่งเสริมบุคลากร นำความรู้ ความสามารถ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม


นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จึงได้เข้าร่วม “โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT Talent เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้สนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถด้าน ICT ซึ่งมีภูมิลำเนาในพื้นที่และผ่านการคัคเลือกตามคุณสมบัติให้ประจำตามโรงเรียนภายใต้การดูแลของซีพีเอฟ ทำหน้าที่ให้ความรู้และส่งเสริมคุณครูใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ให้กับโรงเรียน นำร่อง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหัวยหัน จ.ชัยภูมิ โรงเรียนบ้านห้วยศาลา จ.บุรีรัมย์ และ โรงเรียนบ้านทองหลางน้อย จ.นครราชสีมา และโรงเรียนเครือข่ายรวมอีก 12 โรงเรียน โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้ ICT ในการบริหารจัดการสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณครูมีความชำนาญในการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อจัดการเรียนการสอน นักเรียนมีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เข้าถึงสื่อดิจิทัลและและแหล่งเรียนรู้จากทั่วทุกมุมโลก ชุมชนสามารถประยุกต์ใช้ ICT ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ เป็นต้น

ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากซีพีเอฟ สามารถวัดผลได้จากรางวัลต่างๆที่โรงเรียนได้รับ โดยในปี 2565 โรงเรียน อาทิ รร.หินกอง (พิบูลอนุสรณ์) จ.สระบุรี ทำโครงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จากชมรมวิทยาการหุ่นยนต์ประเทศไทย รร.ชุมชนบ้านประโดก-โคกไผ่ (สถิตย์วิริยคุณ) จ.นครราชสีมา ทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิต สร้างอาชีพการทำเส้นขนมจีน ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง โครงงานอาชีพการทำเส้นขนมจีนสีสมุนไพร จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 รร.บ้านห้วยจรเข้ จ.นครราชสีมา ทำโครงการนักเทคโนโลยีน้อยก้าวสู่อาชีพ PLC & INNOVATION ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงงาน โรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา ทำโครงการฟาร์มไก่พันธุ์ไข่อัจฉริยะ ส่งผลให้กลุ่มยุวเกษตรโรงเรียน ได้รับรางวัลที่ 1 สถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ และได้รับรางวัลที่ 1 บุคคลทางการเกษตรดีเด่นระดับประเทศ

ปี 2566 โรงเรียนบ้านห้วยหัน ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น งานวันวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ นักเรียนโรงเรียนบ้านบุ(ประชารัฐพัฒนา) สพป.นครราชสีมา เขต 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันประกวดนวัตกรรมการโปรแกรมหุ่นยนต์ ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นต้น


ตลอด 7 ปี ที่ซีพีเอฟเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย ขับเคลื่อนเป้าหมายของมูลนิธิ CONNEXT ED มีการจัดระดับคุณภาพโรงเรียน (School Grading)และตัวชี้วัดคุณภาพโรงเรียน (KPIs) เป็นเกณฑ์ในการประเมินการดำเนินงานและติดตามพัฒนาการของโรงเรียนในแต่ละด้าน เช่น ด้านผู้เรียน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการสอน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาแล้ว เด็กๆยังสามารถนำประสบการณ์ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริงจากการลงมือปฏิบัติ เติบโตสมวัยทั้งทางร่างกายและสติปัญญา เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติต่อไป./

No Comments

    Leave a Reply