News

กรมชลประทาน ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี

20/04/2022

วันนี้(20เม.ย.65)ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ผู้อำนวยการสำนัก และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรีประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง และนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ร่วมเป็นประธานการประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดอุทัยธานี มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาจากทิศตะวันตกไปตะวันออก จึงมักประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และน้ำแล้งในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้เป็นจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค และกรมชลประทาน ร่วมบูรณาการในการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน

โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมอโค้ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (พ.ศ.2567-2570)ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ถึง 5,500 ไร่ ทั้งยังบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินโครงการเติมน้ำในแม่น้ำสะแกกรังในระยะยาว ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำสะแกกรัง  ซึ่งสามารถรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ให้อยู่ในระดับ +14.50 ม.รทก. ไม่ส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ที่แพและกลุ่มประมงในแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตรกว่า 2,000 ไร่  รักษาระบบนิเวศ รวมถึงแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง 1,270 ครัวเรือนได้อีกด้วย

ในการนี้ ประธานในที่ประชุม ได้เร่งรัดให้กรมชลประทานเร่งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำสะแกกรัง ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ ได้ตามแผนที่กำหนดไว้  พร้อมเร่งรัดงานก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่สะแกกรัง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนในพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด

No Comments

    Leave a Reply