News

สทนช.เร่งวางแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคระดับตำบลและหมู่บ้าน

19/12/2022


สทนช.เร่งเครื่องวางแผนบูรณาการเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ “บึงโขงหลง” และ “ประตูระบายน้ำห้วยกำแพง” โดยเร่งวางแผนการสำรวจและจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ แหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 8 แห่ง ในทุกอำเภอ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน ที่ส่งผลต่อความเพียงพอของน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยคำนึงถึงคุณภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก ที่ สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬและจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และงานด้านประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้งผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน

“ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งหมดเท่ากับ 880.27 ตร.กม.และในรอบ 10 ปี จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมดเท่ากับ 237.264 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆในจังหวัดบึงกาฬอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆในฤดูแล้ง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน พบว่า มีระบบประปาหมู่บ้าน 574 หมู่บ้าน ไม่มีระบบประปา 43 หมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา” นายสุรสีห์ กล่าว
ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ บึงโขงหลง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ตำบลบึงโขงหลง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีขนาดพื้นที่ 11,494.79 ไร่ อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่ถูกกำหนดเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 1098 ของโลก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ การผลิตประปา และการเพาะปลูก โดยได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ ครั้งที่ 1 บริเวณสวนสาธารณะบึงโขงหลง และประตูระบายน้ำห้วยกำแพง ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากอุทกภัยแก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่หน่วยราชการ พื้นที่เกษตรกรรมข้าวและพืชไร่ เนื่องมาจากระดับน้ำหลากในแม่น้ำโขงสูง ในบางปี และไหลย้อนเข้าห้วยกำแพง และเข้ามาในหนองกุดทิง โดยมีระดับสูงกว่าช่วงฤดูแล้งหลายเมตร ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ปัจจุบันโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยทั้ง 2 แห่ง สามารถพัฒนาศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้ หากแล้วเสร็จตามแผนการพัฒนา จะช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคที่มีความขาดแคลนในพื้นที่ต่อไป

No Comments

    Leave a Reply