นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าตนคณะซึ่งประกอบด้วยพร้อมด้วย นายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม น.ส.รัชนก แสงเพ็ญจันทร์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) และนางศุภจิต ศรีอริยวัฒน์ เลขานุการเอก (ฝ่ายเกษตร) ได้เดินทางเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมนานาชาติด้านการทำประมงอย่างยั่งยืน (FAO International Symposium on Fisheries Sustainability – Strengthening the Science-Policy Nexus) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
โดยการจัดประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคการประมง โดย FAO ได้เชิญนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายทุกระดับ ตั้งแต่องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และภาคประชาสังคมมาประชุมร่วมกัน เพื่อร่วมปฏิรูปและสร้างรากฐานภาคประมงสู่ความยั่งยืนและแนวคิดใหม่Blue Economyซึ่งจากปัญหาที่ทั่วโลกประสบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคประมงอันส่งผลไปสู่ปัญหาความยากจนและความอดอยากหิวโหยของประชากรโลก ที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับเปลี่ยนมองมุม mindset หรือ สร้างมุมมองใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ด้วยเศรษฐกิจใหม่Blue Economyโดยทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน รู้จักนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ นำคนรุ่นใหม่ที่มีความสร้างสรรค์มาช่วยคิดช่วยทำ จึงจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ สำหรับประเทศไทย ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯยุคใหม่ภายใต้รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนและกรมประมงได้ปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่โดยจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทยมาขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารและประมงชั้นนำของโลก
ทั้งนี้ในช่วงพิธีเปิดดังกล่าว นาย Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ FAO และนาย Peter Thomson ทูตพิเศษองค์กรสหประชาชาติด้านมหาสมุทร กล่าวเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมง โดยนาย Qu Dongyu กล่าวเรียกร้องในทุกคนตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และดำเนินการให้เห็นผลอย่างจริงจัง “We need to aim big and do concrete things!” และเสนอแนวทางการทำประมงที่ยั่งยืน โดยแนวคิด Blue Growth Initiative ของ FAO เน้นการปฏิรูปภาคประมงให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล สังคมและเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดยมีมาตรการการป้องกัน การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมไปถึงการจัดการอาหารเหลือทิ้งและของเสียจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมง เพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ได้ที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนนาย Peter Thomson เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเป็น “ภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (PSMA)” ของ FAO เพื่อดำเนินการด้านมาตรการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 (Life below water) พร้อมทั้งแจ้งที่ประชุมทราบเพิ่มเติมว่า ในปี 2020 จะส่งเสริมการสร้างมิติใหม่แห่งธรรมชาติ เริ่มต้นจากการจัดประชุม Ocean Conference เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านทะเลและมหาสมุทร การจัดประชุม UN Biodiversity Conference เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานความหลากหลายทางชีวภาพหลังปี ค.ศ.2020 การประชุม IUCN World Conservation Congress และการประชุม UN Climate Change Conference (COP26) ซึ่งทุกฝ่ายจะร่วมทำงานในการดูแลปกป้องมหาสมุทร เพื่อนำชีวิตในท้องทะเลกลับมาสู่ปกติ และผลิตอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนพื้นโลกอย่างที่เคยเป็นมา
นายอลงกรณ์ บอกด้วยว่า ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมและสื่อสารให้ประชาคมโลกทราบอย่างต่อเนื่องในเวทีระหว่างประเทศ ถึงความมุ่งมั่นและผลสำเร็จของไทยในการดำเนินงานป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนการขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการส่งเสริมให้เกิดการทำการประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ โดยมีการดำเนินการปฏิรูปการประมงของไทยทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง ตามกฎระเบียบสากล จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ไทยได้เสนอโครงการ“ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Cooperation on Sustainable Fisheries) และผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fishery Policy) การขับเคลื่อนการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม (ASEAN Network for Combating IUU Fishing : AN – IUU) โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยมีตัวอย่างผลสำเร็จและมีประสบการณ์ที่สามารถร่วมแลกเปลี่ยน และมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและข้อแนะนำเชิงนโยบายและเชิงวิชาการแก่ประเทศสมาชิก ซึ่ง FAO ก็เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในจุดนี้เช่นเดียวกัน และไทยจะผลักดันให้มีการสร้างโครงการเพื่อขยายความร่วมมือกับนานาประเทศต่อไป
ขณะเดียวกันยังได้พบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงการประมงประเทศนอร์เวย์ อธิบดีกรมประมงจากประเทศอาเซียน และนักวิชการด้านประมงที่มาร่วมประชุมดังกล่าวด้วย
No Comments