News

ปลัดเกษตรฯหนุนกรมการข้าวเพิ่มศักยภาพผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว แก้ปัญหาขาดแคลนในตลาด 

10/08/2021

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019(COVID-19)ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีความเป็นห่วงผลกระทบที่จะส่งผลต่อเกษตรกรและภาคเกษตรไทยเป็นอย่างมาก  จึงพยายามแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก  การแก้ปัญหา“ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว” นับเป็นอีกหนึ่งปมสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯได้เร่งรัดให้กรมการข้าวเร่งวางแผนทางการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้เพียงพอตามเป้าหมาย  เพื่อให้ชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตรงตามพันธุ์และตรงกับความต้องการของตลาด   

นายทองเปลว   กองจันทร์    ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า   เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการผลิตข้าว    เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ผลิตผลมีคุณภาพดีและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงชาวนาไทยที่กำลังประสบกับปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอ พร้อมกำชับให้กระทรวงเกษตรฯเร่งหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของเกษตรกรและตลาด

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ70 ล้านไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีเพาะปลูกปีละประมาณ1,364,800 ตัน   แต่ปัจจุบันกรมการข้าว  สหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน และภาคเอกชนผลิตเมล็ดพันธุ์ดีรวมกันได้เพียงประมาณ 537,000 ตัน หรือประมาณ 40% ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ดีที่ต้องการใช้ในการยกระดับคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวของประเทศไทย    แบ่งการผลิตออกเป็น   กรมการข้าว 95,000 ตัน   สหกรณ์การเกษตร 30,000 ตัน  ศูนย์ข้าวชุมชน 112,000 ตัน และภาคเอกชน 300,000 ตัน

จากปัญหาการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ  ล่าสุดกรมการข้าวได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตตลอดจนปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้ส่วนหนึ่ง จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 85,000–95,000 ตัน/ปี เพิ่มเป็น 120,000 ตัน/ปี

“เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีให้กับพี่น้องชาวนาได้มากยิ่งขึ้น  กรมการข้าวได้เตรียมที่จะดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อรองรับเป้าหมายการผลิต จากเดิมผลิตได้ประมาณ 120,000 ตัน/ปี เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 32,000 ตัน/ปี รวมเป็น 152,000 ตัน/ปี  ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าว จำนวน 4,400 รายแล้ว  ยังเป็นการช่วยกระตุ้นการจ้างแรงงานภาคการเกษตรในชุมชนและสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเข้าไปในระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ ยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวของประเทศอีกด้วย ” นายทองเปลว  กล่าว

นายทองเปลว  กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า    นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ขณะนี้กรมการข้าวมีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานและประสิทธิภาพการทำงานต่ำไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ปัจจุบัน และจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยการก่อสร้างอาคารโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ปรับอากาศพร้อมครุภัณฑ์ จำนวน 15 แห่ง สำหรับใช้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเกิดโรคและศัตรูข้าวระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การผันผวนของความต้องการพันธุ์ข้าว ราคาข้าวเปลือก เศรษฐกิจครัวเรือนและสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของตลาดแล้ว มาตรฐานและคุณภาพก็นับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งได้กำชับกรมการข้าวเร่งออกระเบียบบังคับเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยผู้ที่ทำเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายนั้นจะต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายจากกรมการข้าว เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เมื่อเกิดความเสียหายจากเมล็ดพันธุ์ในบรรจุภัณฑ์ จะได้มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนและสามารถควบคุมราคากลาง ให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศในอนาคต “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับจำหน่าย  จำเป็นต้องควบคุมการปฏิบัติตั้งแต่ในแปลงนา สถานที่รวบรวม การปรับปรุงคุณภาพและการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวจนถึงการบรรจุเพื่อลดความเสี่ยงของการปนของข้าวพันธุ์อื่น การทำลายของศัตรูพืช และการเสื่อมเสียที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน” นายทองเปลว กล่าวทิ้งท้าย 

No Comments

    Leave a Reply