News

อบต.พิมาน ต้นแบบท้องถิ่นรู้รับปรับตัว

10/06/2022

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2560 ทำให้ประชาชนในตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เมื่อน้ำจากหนองหาน จ.สกลนคร มีปริมาณมากกว่าทุกปี ได้ทะลักไหลมาตามลำน้ำก่ำ จนมาถึงที่ราบลุ่มต่ำของตำบลพิมาน น้ำเอ่อท่วมขัง ทำให้บ้านเรือน เรือกสวน ไร่นา ของชาวบ้าน จมอยู่ใต้น้ำนานกว่า 1 เดือน
ตามปกติแล้วน้ำไม่เคยท่วมพื้นที่นี้มาก่อน เมื่อเกิดเหตุขึ้น ความเสียหายจึงมาก เพราะไม่มีการเตรียมการรับมือ แม้กระทั่งคำเตือน ก็ไม่มีใครเชื่อ ชาวบ้านยังคงคิดว่าน้ำไม่เคยท่วมและจะไม่ท่วมแน่นอน แต่เมื่อภัยมาถึงจริง การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นจึงทุลักทุเลและเป็นไปแบบตามมีตามเกิดเท่าที่จะหยิบจับได้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีทักษะน้อยมากในการรับมือกับภัยพิบัติ

นายปรีชา ศรีชาหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า น้ำท่วมในครั้งนั้นจึงเป็นบทเรียนสำคัญ แต่ก็ได้เห็นพลังความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือ มีการจัดอาหารไปส่งให้กับผู้ประสบภัยทุกมื้อไม่ได้ขาด มีจิตอาสาจากในพื้นที่และนอกพื้นที่มาช่วยจำนวนมาก สิ่งของบริจาคก็หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ รวมถึงเงินบริจาคด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนตำบลพิมานได้เรียนรู้จากเหตุการณ์น้ำท่วม คือการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับอนาคตของชุมชน ไม่เฉพาะเรื่องภัยพิบัติเท่านั้น แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกฯปรีชา เชื่อว่า ถ้าชุมชนมีความพร้อม ก็สามารถรับมือกับทุกๆ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

“จากที่เราไม่มีความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติเลย เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ นำโดย จ.ท.โกเมศ ทองบุญชู มาช่วยตั้งแต่น้ำท่วมจนน้ำแห้ง และยังจัดอบรมฝึกทักษะให้กับทีมจิตอาสากู้ภัยในพื้นที่ด้วย จนตอนนี้เรามีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และฝีมือ รวมถึงเรายังนำเงินกว่า 2 แสนบาทที่ได้จากการบริจาคช่วยน้ำท่วมครั้งนั้นมาจัดตั้งเป็น “กองทุนช่วยเหลือภัยพิบัติตำบลพิมาน” ให้ความช่วยเหลือด้วยสาธารณะภัยต่างๆ ด้วย” นายกฯ ปรีชา กล่าว
เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2560 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้องค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน (อบต.พิมาน) กลับมาทบทวนทิศทางในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง จึงมีการพูดคุยกันของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ประกอบด้วย ท้องถิ่น คืออบต. ท้องที่ หมายถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, องค์กรภาครัฐ และภาคประชาชน ก็ได้คำตอบว่า ชุมชนต้องได้รับการพัฒนาทุกมิติ ประชาชนต้องได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ตำบลพิมานได้ค้นหาทุนทางสังคมในพื้นที่ พบว่า มีศักยภาพสูงในหลายๆ ด้าน เป็นพื้นที่ที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เทือกเขาภูพานในช่วงของการแตกแยกทางความคิด มีวัดศรีชมชื่นเป็นศูนย์รวมจิตใจ และยังเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี มีป่าชุมชนพื้นที่ 515 ไร่ ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันหากดูแนวทางในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ พบว่า อบต.พิมาน ได้เตรียมกองทุนกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลพิมาน ไว้สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มต่างๆ และยังส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลพิมาน ซึ่งกองทุนเหล่านี้ เป็นแหล่งทุนชั้นดีในการเริ่มต้นของคนในชุมชนที่มีความตั้งใจในการประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันด้วยศักยภาพที่มีอยู่ทั้งด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม ตำบลพิมานยังจัดให้มีเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้พักและศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวภูไท ไทกะเลิง และไทยโซ่ง ในชุมชนด้วย

ส่วนด้านคุณภาพชีวิตนั้น อบต.พิมาน นับเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กี่แห่งที่ใช้งบประมาณของอบต.สมทบเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. 100 เปอร์เซ็นต์ (ตามกฎหมาย อปท.ต้องสมทบไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินกองทุนฯที่ได้รับการจัดสรร-ขึ้นอยู่กับรายได้ของท้องถิ่นนั้นๆ) และเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในชุมชนขอทุนผ่านการทำโครงการด้านสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้แอพพลิเคชั่น PODD ในการติดตามตรวจเช็คสถานการณ์สุขภาพของคนและสัตว์ในพื้นที่ เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ด้านสิ่งแวดล้อมนั้น นายกฯปรีชา มุ่งมั่นที่จะให้ตำบลพิมานปลอดขยะ จึงได้เก็บถังขยะออกจากชุมชนทั้งหมด และมีการส่งเสริมให้มีการแยกขยะอย่างจริงจัง แต่ที่น่าสนใจและเป็นที่ฮือฮา คือ การผลิตน้ำมันจากน้ำยางของต้นยางนา เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซลให้กับเครื่องจักรทางการเกษตร เช่น รถไถนา เป็นต้น ซึ่งน้ำมันยางนานั้น ยังนำไปผลิตสบู่ น้ำมันหอมระเหย และอื่นๆ อีกมากมาย
จากต้นทุนของชุมชนที่มี บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มผู้นำในตำบล ทำให้ตำบลพิมาน ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน จึงเป็นท้องถิ่นที่รู้รับปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และน่าจะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ชุมชนอื่นๆ ควรเข้ามาศึกษาเรียนรู้

No Comments

    Leave a Reply