News

ชป.เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

09/06/2020

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ หวังช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่กว่า 7 หมู่บ้าน ของตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ เป็นโครงการที่ราษฎรในพื้นที่ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ได้เสนอขอมายังกรมชลประทาน ผ่านทางอำเภอพร้าว เมื่อปี 2542 เนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย


ด้านนายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวภายหลังจากเข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ ณ วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ.หลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 20.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถส่งน้ำ ครอบคลุม 7 หมู่บ้าน ของตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของฝายเดิมในปัจจุบัน ประมาณ 3,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่เพิ่มอีกประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 6,000 ครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศให้กับลำน้ำในพื้นที่อีกด้วย ผลจากการประชุมราษฎรในพื้นที่ต่างเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญทุกมิติทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด ได้เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรให้แก่ราษฎร แต่เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เกินกว่า 500 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำหรับเสนอเข้าวาระเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน รวมทั้งเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติฯ ประกอบการพิจารณาอนุญาตเพิกถอนพื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมเดินตามกระบวนการตามกฏระเบียบทางกฏหมายต่อไป

No Comments

    Leave a Reply