News

ชป.ติดตามสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมใจประหยัด

07/02/2022

 

 วันนี้ (7ก.พ.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (7ก.พ.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 53,866 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 29,935 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 11,285 ล้าน ลบ.ม.   เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 6,104 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,999 ล้าน ลบ.ม.  สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 6.52 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 1 (แผน 6.41 ล้านไร่) เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.08 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 45 (แผน 2.81 ล้านไร่) ด้านสถานการณ์ค่าความเค็ม ในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบัน(7ก.พ.65) อยู่ในเกณฑ์ปกติ  แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.พ.65 นี้

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควบคุมพื้นที่เพาะปลูกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต หมุนเวียนการส่งน้ำตามรอบเวร เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพออย่างเท่าเทียมกัน  รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำปี64/65 ตามมติที่คณะรัฐมนตรีกำหนดทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด  ติดตามประเมินผลนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) มาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์  เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที  ที่สำคัญทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ถึงปริมาณน้ำและสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรรับทราบอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้  และขอให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

 

No Comments

    Leave a Reply