News

“เขื่อนขุนด่านฯ” ต้นทุนลุ่มน้ำนครนายก

04/12/2022

กรมชลประทาน น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ลดน้ำยามท่วม เติมน้ำยามแล้ง แปลงดินยามเปรี้ยว พัฒนาอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิต” สร้างเขื่อนขุดด่านปราการชล ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง สร้างความมั่นคงให้กับลุ่มน้ำนครนายกอย่างยั่งยืน


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน พร้อมพระราชทานแผนที่ที่ตั้งเขื่อนเก็บกักน้ำ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการเขื่อนคลองท่าด่านอีกครั้ง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

กรมชลประทาน ได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว มาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินโครงการฯ “เขื่อนขุนด่านปราการชล” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลักการที่ว่า “ลดน้ำยามท่วม เติมน้ำยามแล้ง แปลงดินยามเปรี้ยว พัฒนาอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิต” เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 และเริ่มเก็บกักน้ำได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยสามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุดประมาณ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภคบริโภคและพื้นที่เกษตรกรรมรวมกว่า 185,000 ไร่ รวมไปถึงการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่สร้างรายได้เสริมด้านการประมงและการท่องเที่ยวให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวลุ่มน้ำนครนายก เปลี่ยนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินเปรี้ยว ในอดีต แทนที่ด้วยความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน อันนำมาซึ่งชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน สมดังความมุ่งมั่นที่ว่า “พระราชดำริปรากฏผล ชุมชนเข้มแข็ง ใช้น้ำคุ้มค่า พัฒนาการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน มุ่งประโยชน์สุขประชาชน”

สำหรับลุ่มน้ำนครนายก มีลักษณะภูมิประเทศผสมผสานระหว่างหุบเขาแคบและพื้นที่ลาดชัน ในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำไหลบ่ารุนแรง เข้าท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ทางตอนล่าง ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินต่ำ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใต้ดินได้ เมื่อถึงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง จึงเกิดความแห้งแล้งจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ แม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในลุ่มน้ำนครนายกให้หมดไปได้

 

No Comments

    Leave a Reply