News

อธิบดีฝนหลวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่า และสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่การเกษตรภาคเหนือ

02/04/2019

วันที่ 2 เมษายน 2562 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าทางภาคเหนือ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า การประชุมติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองฯ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติการช่วยเหลือยับยั้งไฟป่าและหมอกควันอย่างเร่งด่วนภายใน 7 วัน ให้สัมฤทธิ์ผล โดยในแต่ละจังหวัดของพื้นที่ภาคเหนือ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการในระดับตำบลเพื่อให้มีการสอดส่องจุดที่มีการเผาป่า ดำเนินการดับไฟ และรายงานการแก้ไขปัญหาปัญหาหมอกควันเข้ามาที่จังหวัดและส่วนกลาง สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นบินปฏิบัติการทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง คือ มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมากกว่า 60% ขึ้นไป ซึ่งทางหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก มีการติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าและสถานการณ์ภัยแล้ง อย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย


สำหรับเมื่อวานนี้ (1 เม.ย. 2562) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการทั่วทุกภูมิภาค ทำให้มีฝนตกช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์และอุดรธานี มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี นครราชสีมา ตราด ระยอง เพชรบุรี รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา จังหวัดเพชรบูรณ์ และอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำเขาพระ จังหวัดนครสวรรค์ และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
ด้านแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 2 เมษายน 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจาก กรมควบคุมมลพิษ พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง ส่วนผลตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 74% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% และ ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.6 ซึ่งเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดจันทบุรี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณอำเภอวังจันทร์ ปลวกแดง บ้านค่าย จังหวัดระยอง
ด้านพื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 77% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 72% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.9 ซึ่งเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดลพบุรี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดลพบุรีตอนบน และพื้นที่ขาดแคลนน้ำจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดกาญจนบุรี จะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลักหลัก ได้แก่ พื้นที่การเกษตรอำเภอเลาขวัญ ห้วยกระเจา หนองปรือ บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีจุดความร้อนบริเวณตอนบนของภาคเหนือ และจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกและตะวันตกพัดพาฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ด้านผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จังหวัดแพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 62% (ร้องกวาง) 35% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 43% (ร้องกวาง) 11% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.4(ร้องกวาง) 6.0 (อมก๋อย) ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่นละอองทันทีพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่นและเลย ยังมีค่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ด้านผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 80% (บ้านผือ) 84% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัว ของเมฆ 92% (บ้านผือ) 65% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.5 (บ้านผือ) -0.7 (พิมาย) ซึ่งเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดอุดรธานีและนครราชสีมา จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่การเกษตรจังหวัดอุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด
และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 51% (พนม) 70% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับ การพัฒนาตัวของเมฆ 37% (พนม) 50% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.9 (พนม) -4.2 (ปะทิว) ซึ่งเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กรุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ อำเภอแก่งกระจาน ท่ายาง และชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดสงขลา ได้ตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุบาเจาะ
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 10 หน่วยปฏิบัติการ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ การเติมน้ำให้แหล่งน้ำและพื้นที่ลุ่มรับน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

 

*************************
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
2 เมษายน 2562

No Comments

    Leave a Reply