News

ชป.เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก เตรียมรับการขยายตัวของทุกภาคส่วน

01/11/2019

กรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี โดยได้ทำการศึกษา และติดตามการดำเนินงานตามแผนฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสนับสนุน และรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกในอนาคต

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจัดตั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor(EEC) ายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีเลี่ยงไม่ได้

สำหรับแนวทางดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการน้ำระยะ 10 ปี เพื่อจัดหาน้ำให้เพียงพอความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 354 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยการพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศให้มีศักยภาพเพื่อการเกษตร ร่วมกับ EEC รวมถึงการผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงนอกพื้นที่ EEC ที่อยู่ภายในประเทศ มาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน

กรมชลประทานได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.) การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ
อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด
อ่างเก็บน้ำคลองระบม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อศักยภาพในการเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นรวมอีก 117ล้าน ลบ.ม. จากเดิมสามารถเก็บกักน้ำได้ 871.10 ล้าน ลบ.ม. 2.) การพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อ่างคลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างคลองพะวาใหญ่

อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว จังหวัดจันทบุรี รวมความจุประมาณ 308 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำเพื่อการเกษตรกว่า 170 ล้าน ลบ.ม. ให้แก่พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานกว่า 234,000 ไร่ อีกทั้งสนับสนุนน้ำให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กว่า 100 ล้าน ลบ.ม. 3.) การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โครงการปรับปรุงคลองพานทอง ทำการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ ให้เต็มศักยภาพ โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ เพื่อรองรับการบริหารจัดการร่วมกับการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด 4.) การสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่งได้แก่ ปรับปรุงระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และการสูบน้ำกลับจากคลองสะพานไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 55 ล้าน ลบ.ม. 5.) การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในเขตเมืองระยอง และพื้นที่อุตสาหกรรม เขตอำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และ 6.) การจัดหาแหล่งน้ำโดยภาคเอกชน โดย บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EAST WATER การประปาส่วนภูมิภาค และการนิคมอุตสาหกรรม สามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำได้กว่า 62 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สามารถช่วยกระตุ้นการลงทุน และพัฒนาโครงการพื้นฐาน ให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืน

No Comments

    Leave a Reply