News

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดมหกรรมเครือข่ายมิตรภาพบำบัด ครั้งที่ 3 ร่วมสร้างพลังแห่งการช่วยเหลือ “เพื่อนช่วยเพื่อน”

30/06/2023

วันที่ 30 มิ.ย.66 ที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ศาสตราจารย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นประธานเปิดงานมหกรรมเครือข่ายมิตรภาพบำบัดรามาธิบดีครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความสำคัญกับเครือข่ายมิตรภาพบำบัด ซึ่งช่วยเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง “เปลี่ยนปัญหาให้เป็นพลัง” เป็นพลังของเพื่อนที่ช่วยเพื่อน มิตรภาพบำบัดจึงเป็นการดูแลที่เสริมพลังและความเข้มแข็งในระหว่างกลุ่มผู้ป่วยด้วยกัน หรือในระหว่างกลุ่มผู้ดูแล ทำให้เกิดรู้สึกมีคุณค่าที่ได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เกิดความไว้วางใจกันและมีความผาสุก

นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา กล่าวอีกว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีรับผิดชอบในการดูแลชุมชน ซึ่งเครือข่ายมิตรภาพบำบัดเป็นชุมชนกลุ่มผู้ป่วยที่คณะฯ ขับเคลื่อนในการระบบการดูแลสุขภาพต้นแบบ เริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ป่วยไร้กล่องเสียงในปี พ.ศ.2532 โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน เกิดความอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมและความสำเร็จ จึงได้มีการขยายกลุ่มเพิ่มเติมจนในปัจจุบันมีกลุ่มมิตรภาพบำบัดรามาธิบดีรวม 27 กลุ่ม เครือข่ายมิตรภาพบำบัดจึงเป็นส่วนสำคัญของระบบการดูแลสุขภาพองค์รวมโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว

“ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการถอดบทเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์ในแต่ละสาขา ของแต่ละโรค เพราะในแต่ละโรคจะไม่เหมือนกัน และอาจารย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเครือข่ายมิตรภาพบำบัด เป็นไปอย่างถูกต้อง รวมทั้งมีตัวอย่างแบบนี้ในต่างประเทศในหลายเครือข่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อดำเนินการขยายผล ในโรงพยาบาล อื่นๆ และในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้อีกเป็นจำนวนมาก”คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีและรักษาการรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายมิตรภาพบำบัด เป็นตัวชี้วัดในการดูแลผู้ป่วยที่สำคัญคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เครือข่ายมิตรภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพและพลังใจของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยผู้ป่วยทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ เภสัชกร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูแลที่ครอบคลุมอย่างเป็นระบบ ทั้งการส่งเสริมป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ เปียซื่อ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พันธกิจสร้างเสริมสุขภาพมุ่งเน้นการขับเคลื่อนพัฒนาเครือข่ายมิตรภาพบำบัดของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ผ่านคณะกรรมการเครือข่ายมิตรภาพบำบัดซึ่งมีทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทีมสุขภาพ ที่ผ่านมามีความสำเร็จเป็นอย่างดีดังจะเห็นได้จากการจัดมหกรรมเครือข่ายมิตรภาพบำบัดเครือข่ายในครั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นผลจากการที่สมาชิกมีประสบการณ์ร่วมกันไว้วางใจกัน ตลอดจนมีการสนับสนุนช่วยเหลือแนะนำและแบ่งปันกัน จนสามารถเผชิญปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ตรงจุด เกิดพลังการมีส่วนร่วมและความผูกพันกัน สมาชิกสามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง นำสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน จากความสำเร็จนี้ ปัจจุบันเครือข่ายมิตรภาพบำบัดรามาธิบดีจึงได้ยกระดับเป้าหมายและขยายผลเพื่อร่วมกันส่งเสริมให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตสูงสุด

รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต ที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายมิตรภาพรามาธิบดี ผู้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self Help Group) และเครือข่ายมิตรภาพบำบัดรามาธิบดี กล่าวว่า Self Help Group เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ป่วยที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน มาด้วยความสมัครใจ เพื่อจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม กลุ่มในลักษณะนี้ เป็นกลุ่มที่ ผู้ป่วยเป็นเจ้าของกลุ่ม เป็นประธานกลุ่ม มีเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม ซึ่งจะเรียกว่ากลุ่มช่วยเหลือตนเอง เจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นที่ปรึกษา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 กลุ่มเราเริ่มดำเนินการเป็นกลุ่มแรก ที่เรียกว่า Self Help Group กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2533 มีกลุ่มเดียวในรามาธิบดีคือกลุ่มผู้ไร้กล่องเสียง ในพ.ศ. 2536 มีรองศาสตราจารย์มณฑา ลิ้มทองกุล ก็ได้จัดกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมขึ้นมาอีกกลุ่ม ชื่อว่ากลุ่มฟื้นฟูชีวิตใหม่ หลังจากนั้นก็มีกลุ่มต่างๆเกิดขึ้น และได้ดำเนินการมาตลอดจนปี พ.ศ. 2549 ได้รับทุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มาดูแล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีนโยบายที่สนับสนุนการตั้งศูนย์มิตรภาพบำบัด

“เมื่อก่อนคิดว่าหมอพยาบาลให้การดูแลคนไข้อย่างดี แล้วมันไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่เราให้คือการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ แต่ยังไม่เข้าใจความรู้สึกของคนไข้ ในมุมมองของคนไข้เขามองว่า เมื่อเขาเกิดความทุกข์ คนอื่นไม่รู้ว่าทุกข์ของเขามากแค่ไหน ดังนั้นสมาชิกชมรม Self Help Group เป็นตัวช่วยเข้าไปเติมเต็มในความรู้สึกในอารมณ์ของคนไข้ การได้มาทำงานตรงนี้มีความประทับใจมาก ปัจจุบันกลุ่มผู้ไร้กล่องเสียงได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยใหม่ที่มาผ่าตัด ที่มีความทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัด ทุกข์กับสิ่งที่เขาจะต้องสูญเสียหลังผ่าตัดแล้วไม่มีเสียงพูด เขาไม่รู้ว่าจะพูดได้ยังไง แต่เมื่อสมาชิกเราขึ้นไป ซึ่งเป็นสมาชิกที่พูดได้เขาก็มีความหวังขึ้นทันที เมื่อประเมินคนไข้ ประเมินผู้ป่วยที่เข้ามาในกลุ่ม พบว่าเขามีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น ปรับตัวได้เร็วขึ้น และดูแลตนเองได้ดี เพราะความรู้ที่ได้จากกลุ่มน้ำใจจากเพื่อน เรียกว่ามิตรภาพบำบัด หรือ บำบัดโดยกัลยาณมิตร บำบัดด้วยความเข้าใจ ความเมตตา ทำให้เกิดความสุข ดิฉันบอกผู้ป่วยเสมอ เมื่อไหร่คุณมาเป็นจิตอาสา คุณต้องมีความสุข คือหมายความว่าผู้รับก็ต้องมีความสุข ผู้ให้ก็ต้องมีความสุข และได้จัดอบรมสมาชิกที่มีศักยภาพให้เป็นผู้ให้ ให้เป็นจิตอาสา แนวคิดของจิตอาสา คือ การทำงานเพื่อประโยชน์ของเพื่อน ของสังคม ไม่มีค่าตอบแทน แต่สิ่งที่ได้รับคือความภาคภูมิใจ ความอิ่มเอิบใจ และความสุข” รองศาสตราจารย์ดรุณี กล่าว

ขณะที่ พยาบาลวิชาชีพ ประไพ อริยประยูร ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ประธานเครือข่ายมิตรภาพ รามาธิบดี และที่ปรึกษากลุ่มทวารเทียม กล่าวว่า กลุ่มทวารเทียมเกิดขึ้นจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักและมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้องเพื่อขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะทั้งแบบถาวรหรือชั่วคราวการผ่าตัดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเข้าสังคม ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

“การช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้จะต้องให้ความรู้ในการดูแลตนเองเกี่ยวกับทวารใหม่ปรับทัศนคติให้ผู้ป่วยยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองรวมถึงการเสริมพลังให้กับผู้ป่วยโดยกิจกรรมของกลุ่มจะให้ผู้ที่มีทวารใหม่และผู้ดูแลมารับคำปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างพยาบาลกับผู้มีทวารใหม่และผู้ดูแลด้วยกันเอง สิ่งสำคัญคือการสร้างเสริมกำลังใจให้กับผู้มีทวารใหม่และผู้ดูแลให้รู้สึกคลายความกังวล สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวันได้และยังเป็นการเพิ่มมิตรภาพเครือข่าย แหล่งประโยชน์ให้แก่เพื่อนสมาชิกด้วยกันเองอีกด้วย และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนอื่นๆรวมทั้งกลุ่มใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นจากความรักและความเอื้ออาทรของผู้ที่มีประสบการณ์ตรงที่จะช่วยกันทำให้ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถปรับตัว เรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” พยาบาลวิชาชีพ ประไพ กล่าว

หลายคนที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง คงมีความรู้สึกแบบเดียวกันว่าทำไมต้องเกิดขึ้นกับตนเอง ทำไมตนเองต้องลำบาก ทำไมต้องเจอปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและครอบครัวสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด แม้ว่าบุคลากรสาธารณสุขจะพยายามช่วยให้กำลังใจและช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้กับผู้ป่วยแต่ก็ไม่ สามารถแก้ได้ในทุกๆมิติ ถึงที่สุดแล้วก็ต้องเป็นการเรียนรู้ปรับตัวและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นของตัวผู้ป่วยเอง แต่ใครจะรู้ว่าการเรียนรู้กับตัวเองและยอมรับของผู้ป่วยนั้นจำเป็นต้องอาศัยกำลังใจความเข้าใจและการช่วยเหลือจากคนที่มีประสบการณ์ตรงหรือคล้ายกัน กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน จึงเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เชื่อว่า “มิตรภาพบำบัด เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เยียวยาโรคได้”

 

No Comments

    Leave a Reply