News

ประมงไทยสุดเจ๋ง!! ใช้เวลา 12 ปี เพาะพันธุ์ปลา “ปล้องทองปรีดี” สำเร็จ

25/10/2018

กรมประมง เจ๋งสุด เพาะพันธุ์ปลา “ปล้องทองปรีดี” สำเร็จหลังพยายามมา 12 ปี ชี้ ปลาดอย อาศัยในลำธารภูเขาพื้นที่3 อำเภอ ของเชียงใหม่ ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ จ่อขยายพันธุ์เชิงพาณิชย์เป็นปลาสวยงามสร้างรายได้ชุมชน 

24 ต.ค.61 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ล่าสุด นักวิชาการกรมประมงสามารถทำการเพาะพันธุ์ปลาได้สำเร็จอีกหนึ่งชนิด คือ “ปลาปล้องทองปรีดี” ซึ่งถือว่าเป็นปลาหายากอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมลง  อีกทั้งยังถูกรุกรานจับขึ้นมาจำหน่ายเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ทำให้ปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเพาะขยายพันธุ์เพื่อทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้ปลาชนิดนี้ยังคงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในอนาคตสามารถต่อยอดการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย การวิจัยนี้ได้ใช้ระยะเวลาในการศึกษาทดลองกว่า 12 ปี  

ด้าน นายประสาน  พรโสภิณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า “ปลาปล้องทองปรีดี” เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) มีขนาดเล็กความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว สีสันสวยงาม ลำตัวมีลักษณะคล้ายปล้องอ้อยเรียวยาวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือเหลืองอ่อน และมีลายขวางสีคล้ำลงมาเกือบถึงท้อง พบได้ในประเทศแถบเอเชียสำหรับประเทศไทยพบบริเวณลำธารภูเขาในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว และอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้สำรวจชนิดพันธุ์สัตว์น้ำตามโครงการพระราชดำริทุกปีอย่างต่อเนื่อง และพบว่าปลาปล้องทองปรีดีในธรรมชาติหาได้ยากและมีจำนวนลดน้อยลง จึงได้พยายามรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเพื่อทำการศึกษาทดลอง

เพาะขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แต่ในระยะแรกยังประสบปัญหาเนื่องจากปลาไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการทดลองได้ 

นายประสาน กล่าวว่า จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2560 ทางศูนย์ฯ ได้นำไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและอากาศใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากที่สุด  โดยคัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์มาทำการทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอโมนสังเคราะห์ แล้วปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์แบบธรรมชาติที่อุณหภูมิน้ำ 15.3–16.8 องศาเซลเซียส ผลปรากฏว่า ปลามีการตกไข่มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และสามารถฟักออกเป็นตัวได้สำเร็จ แต่อัตราการฟักตัวยังค่อนข้างต่ำอยู่มากเพียง 37.13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รวมถึงการอนุบาลลูกปลาก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการรอดยังต่ำอยู่เช่นกัน ซึ่งได้ผลผลิตเพียง 200 ตัวเท่านั้น จึงต้องมีการพัฒนาขยายผลการศึกษาวิจัยในระยะต่อไปเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากกว่านี้

No Comments

    Leave a Reply