News

ประกาศ!! ราชบุรี-กาญจนบุรี เป็นเขตโรคระบาดปากและเท้าเปื่อยของโคนมชั่วคราว

20/11/2018

อธิบดีปศุสัตว์ ประกาศเขตโรคระบาดปากและเท้าเปื่อยชั่วคราว 2 จว.ราชบุรี-กาญจนบุรี พบเกิดโรคระบาดในโคนม อ.บ้านโป่ง หวั่นลาม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ สุกร เร่งระดมฉีดวัคซีนทุกพื้นที่ทั่วประเทศคุมสถานการณ์โรคสงบโดยเร็ว”

วันนี้ (20 พ.ย.61) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดปากและเท้าเปื่อยชั่วคราว ในพื้นที่หมู่ 5 ต.กรับใหญ่ หมู่ 20 หมู่ 13 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และในพื้นที่หมู่ 4 ต.ดอนขมิ้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี  ตั้งแต่วันที่ 20พ.ย.-16 ธ.ค.61 เนื่องจากปรากฏว่า ในท้องที่บ้านรางเจริญ หมู่ที่ 14 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  ได้มีโคนมเกิดโรคระบาดปากและเท้าเปื่อยขึ้น ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรงอาจระบาดติดต่อ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ได้ ฉะนั้นอาศัยตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ จึงประกาศพื้นที่กำหนดโรคระบาดและควบคุมโรคพื้นที่รัศมีใกล้เคียง ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ มีสัตว์ป่วยตายต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ทั้งนี้ให้ทุกพื้นที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในเดือนธ.ค.61ถึงม.ค.62นี้ ทั่วประเทศ พร้อมกับการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ นำสัตว์มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวเพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันโรคและลดความสูญเสียจากการระบาด โดยติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเกิดโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียเป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ ทำให้กระบือป่วยตายอย่างเฉียบพลัน ผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเช่นกัน เกษตรกรควรดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและป้องกันสัตว์ไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ  ถังนม สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ ถุงอาหารสัตว์ เป็นต้น ประกอบกับหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย หรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-2256888 หรือ Application: DLD 4.0 แจ้งการเกิดโรคระบาด

No Comments

    Leave a Reply