News

กรมส่งเสริมการเกษตร พลิกมิติงานส่งเสริมภาคเกษตรไทย ปี 63 วางเป้าต่อยอด “โมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่”

17/02/2020

ในพื้นที่ 6 จุดนำร่อง สู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บนักส่งเสริมการเกษตร กระจายรายได้สู่ชุมชน ดันรายได้เกษตรกร สู่ความมั่นคง ยั่งยืนระยะยาว


นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ การผลักดันงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและเข้มแข็งในระยะยาว เป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผล อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด สร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งในปี 2563 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นการขยายผลจากการนำโมเดลหรือรูปแบบการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ในพื้นที่ 6 จุดนำร่อง ได้แก่ แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมบางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และกลุ่มผู้ปลูกอโวคาโดแบบครบวงจร อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งได้รูปแบบแนวทางการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จากการถอดบทเรียนความสำเร็จในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) เกิดเป็นรูปแบบส่งเสริมการเกษตร 3 รูปแบบหลัก คือ 1) รูปแบบผัก ซึ่งเกิดแนวทางการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและแนวทางกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน 2) รูปแบบมะพร้าว ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางจัดการกระบวนการผลิตแบบไม่เหลือทิ้งหรือขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) และ 3) รูปแบบไม้ผล (มังคุดและอโวคาโด) ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดเป็นนโยบายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่พิจารณาพื้นที่เพื่อดำเนินการตามรูปแบบโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่แล้ว จังหวัดละ 1 จุด เพื่อเป็นต้นแบบในจังหวัดของตน


ในการต่อยอดโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 6 จุดนำร่อง สู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรยังเล็งเห็นความสำคัญในการนำข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืช (zoning) มาใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเดิม หรือการปลูกพืชทางเลือกแซมในพืชหลักเดิมของพื้นที่ โดยจะมีการจัดเวทีชุมชนให้เกษตรกรร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่ต้นแบบที่จะทำการศึกษาการนำโมเดลนี้ไปใช้ ประกอบด้วย 1) พื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี สินค้าเดิม อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง สินค้าใหม่เป็นขมิ้นชันอินทรีย์ 2) อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี สินค้าสมุนไพร 3 )พื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่พืชผักและพืชสมุนไพร 4) อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่หน่อยไม้ฝรั่ง 5) พื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สินค้าเดิมยางพารา สินค้าใหม่ปาล์มน้ำมัน พืชร่วมยางพารา พืชแซมยางพารา เกษตรกรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ และ 6) พื้นที่อำเภอเสมิง จังหวัดเชียงใหม่ สินค้าเดิมข้าว สินค้าใหม่พืชผัก พืชสมุนไพร
สำหรับระบบการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นอีกกลไกสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ต้องการพลิกโฉมการส่งเสริมการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการดำเนินการมุ่งพัฒนาต่อยอดและใช้กลไกที่มีอยู่เดิม อาทิ ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ young smart farmer และวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนา สามารถคิดเป็น พึ่งตนเองได้ อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนตามความต้องการของพื้นที่ทั้งในเรื่องงบประมาณและความรู้และทรัพยากร มีการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่อย่างรอบด้านเพื่อค้นหาศักยภาพและปัญหาของชุมชนที่แท้จริง จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชนขึ้นมาให้สอดคล้องกับทุนทรัพยากรของพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเวทีชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกลไกลการทำงานผ่านการส่งเสริมการเกษตรรายบุคคล การส่งเสริมแบบกลุ่มและการส่งเสริมรายสินค้า เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนหรือทุกคนในชุมชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป้าผลสำเร็จของโครงการนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และมีการขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง ในขณะที่งานส่งเสริมการเกษตรมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นเป็นกลไกลสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเน้นยึดหลักการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เริ่มต้นจากการวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งในมิติของพื้นที่ คน และสินค้า เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในระยะยาว ซึ่งการส่งเสริมการเกษตรในระยะเวลาที่ผ่านมาจะเน้นส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรทั้งในลักษณะรายบุคคล การส่งเสริมรายกลุ่ม ตลอดจนการส่งเสริมให้เกษตรกรบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน แต่ยังขาดการส่งเสริมในเชิงพื้นที่ทำให้ขาดการเชื่อมโยงกระบวนการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม และขาดการเชื่อมโยงกิจกรรมกาพัฒนาจากต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งต่อไปงานส่งเสริมการเกษตรจะมีมิติที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อผลักดันภาคเกษตรไทยให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศหรือของคนในชุมชน ” นายเข้มแข็ง กล่าว

No Comments

    Leave a Reply