News

“แห่งแรกของประเทศไทย กองส่งเสริมการเกษตร ที่ตั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด”

04/12/2023

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ได้จัดตั้งกองส่งเสริมการเกษตร ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ก็มีอายุครบ 1 ปีพอดี

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกอบจ.สงขลา กล่าวว่า ในบทบาทภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จะมีหน้าที่ หลายอย่าง ทั้งทางด้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความเป็นอยู่ ศิลปะวัฒนธรรม การศึกษาสาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ และอื่นๆ สำหรับจังหวัดสงขลา พบว่า ภาคการเกษตร มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาเกษตรกรรม ฯ 30,800 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 12.4 ของทั้งหมด แบ่งเป็นสาขาพืชที่ 19,712 ล้านบาท สาขาประมง 8,624 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 2,279 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อรายได้แก่เกษตรกร จำนวน 136,790 ครัวเรือน และแรงงานเกษตร 777,838 คน พื้นที่เกษตร ประมาณ 2.923 ล้านไร่
แต่เมื่อมาดูแผนงานโครงการพบว่ายังมีโครงการที่จะไปส่งเสริมอาชีพเกษตรน้อยมาก เนื่องมาจากไม่มีกองที่จะมารับผิดชอบงานเกษตรโดยตรง เมื่อไปดูข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทยตามประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหารและการปฏิบัติงานของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ข้อ 2/1(5) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถกำหนดให้มี “กองส่งเสริมการเกษตร” ได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด
อบจ.สงขลา จึงมีนโยบายให้มีการจัดตั้ง “กองส่งเสริมการเกษตร” ขึ้นมาในปี 2565 โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้กองได้มีบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมกับบริบทในการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดสงขลา และได้จัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถือเป็น อบจ. แรกของประเทศไทย

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกอบจ.สงขลา กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า กองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา มีวิสัยทัศน์ คือ “สงขลามหานครการเกษตร” โดยจะเป็นองค์กรในการพัฒนา ส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการ เป็นองค์รวม และครบวงจร เพื่อนำไปสู่ความพอเพียง มั่นคง ยั่งยืน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดสงขลา
กองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา มีหน้าที่ความรับผิดชอบงานการส่งเสริมการเกษตรแบบครบองค์รวม ครบวงจร โดยส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรทั้ง พืช ปศุสัตว์ ประมง ที่เหมาะสมกับภูมิสังคม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ ชีวภัณฑ์ และสารเคมีที่ปลอดภัย ส่งเสริมการแปรรูป การหมุนเวียนใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมการวิเคราะห์ ตรวจสอบ รับรองมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรปลอดภัยและมีคุณภาพดี ส่งเสริมการตลาดสินค้าทางการเกษตรทั้งในระดับชุมชน ตลาดกลาง ตลาดพันธสัญญา ตลาดส่งออก ตลาดออนไลน์ ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ชุมชนเกษตร และเครือข่ายเกษตรกร และส่งเสริมการเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตรกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวทางการเกษตร ภาคการตลาด ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ตลอดจนเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด ราขการส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ชุมชน
ในปี 2567 กองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา มีโครงการ 26 โครงการ วงงบประมาณดำเนินงานประมาณ 40 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มโครงการ ได้แก่กลุ่มโครงการส่งเสริมอาชีพ ได้แก่ โครงการส่งเสริมอาชีพการผลิตพืช เช่น มะพร้าวน้ำหอม กาแฟ ทุเรียนบ้าน เห็ด ข้าวแบบอินทรีย์ ผักปลอดภัยสู่ความมั่งคงด้านอาหาร สงขลาเมืองเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมอาชีพการปศุสัตว์ เช่น ไก่พร้อมไข่ ขันโรง ผึ้ง โครงการส่งเสริมอาชีพการประมง เช่น จัดตั้งศูนย์ผลิตจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตลูกกุ้งก้ามกรามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลา แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยของจังหวัดสงขลา โครงการฟาร์มทะเล ส่งเสริมปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา และ ปลาดุกกลุ่มโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 สมาร์ทฟาร์ม การพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm)กลุ่มโครงการส่งเสริมการตลาด และการท่องเที่ยว เช่น โครงการงานเกษตรแฟร์และ OTOP โครงการตลาดเกษตร อบจ. การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การจัดงานอัตลักษณ์สงขลาใต้
กลุ่มโครงการส่งเสริมการเกษตรกร ชุมชน และเครือข่าย เช่น โครงการพัฒนาอาสาสมัครเกษตร อบจ. ยุวเกษตรกร หมอพืชชุมชน เครือข่ายองค์กรประมงท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน เคหกิจเกษตรในครัวเรือนเกษตรกรสูงวัย และพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรตามศาสตร์พระราชา

จุดแข็งของ อบจ.สงขลา คือมีสามารถจัดทำโครงการสนองความต้องการเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี เกษตรกร ภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ สามารถร่วมจัดทำโครงการกับ อบจ. ได้ ทั้งในลักษณะการต่อยอดงานที่งบปกติที่ดำเนินการได้น้อย ให้ขยายวงกว้างทั้งจังหวัดภายในระยะเวลาความสำเร็จที่รวดเร็วขึ้น หรือโครงการเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ และอบจ. จะเป็นหน่วยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาครบวงจร โดยกองส่งเสริมการเกษตร คาดว่าการพัฒนาจะส่งผลกระทบทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดหนี้สิน ซึ่งเกษตรกรสงขลามีรายได้ 276,228 บาท/ครัวเรือน/ปี เทียบกับเกณฑ์ world bank สงขลาจะอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับต่ำ มีเกษตรกรที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ประมาณ 78% นอกจากนั้นจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนนโยบายประเทศทั้งในส่วนแผนชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นโยบาย BCG นโยบายกระทรวงมหาดไทย และนโยบายจังหวัดสงขลา

No Comments

    Leave a Reply