News

ชป.แจงข่าวกรณีชาวบ้านพุระกำประกาศพร้อมใจกลับแผ่นดิน หากรัฐอนุมัติสร้างเขื่อนทับชุมชน

03/02/2022

กรมชลประทานชี้แจงกรณี การนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า “ชาวบ้านพุระกำประกาศพร้อมใจกลับแผ่นดิน หากรัฐอนุมัติสร้างเขื่อนทับชุมชน หวั่นความขัดแย้งซ้ำกรณีบางกลอย” นั้น กรมชลประทานได้ทบทวนรูปแบบพื้นที่แปลงอพยพตามข้อทักท้วงของราษฎรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมเร่งชี้แจงราษฎรและเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ต่อไป

 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีนี้ว่า โครงการดังกล่าว คือ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (FS & EIA) แล้วเสร็จเมื่อปี 2555 โดยรายงานการศึกษา EIA ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม(คชก.) แล้ว เมื่อวันที่  19 กันยายน 2560 จากนั้นได้นำเสนอรายงาน EIA ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติให้กรมชลประทานไปทบทวนผลการศึกษาในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการทำความเข้าใจกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ(บ้านพุระกำ) และทบทวนเรื่องการจัดสรรพื้นที่อาศัย ที่ทำกิน (แปลงอพยพ)

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง เป็นโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 38,600 ไร่ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี โดยในเขตอ่างเก็บน้ำมีหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง(บ้านพุระกำ) 77 ครัวเรือน เป็นผู้ได้รับผลกระทบ หากมีการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการฯ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการโยกย้ายที่อยู่อาศัย ที่ทำกินไปยังพื้นที่แปลงอพยพ ตามที่กรมชลประทานเสนอไว้ในรายงานการศึกษาฯ

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มีการลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คำแนะนำและหารือแนวทางแก้ไขปัญหาจากโครงการดังกล่าว โดยล่าสุดได้มีการทบทวนรูปแบบของพื้นที่แปลงอพยพ ตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตามข้อทักท้วงของราษฎรบ้านพุระกำที่ว่า แปลงอพยพที่เสนอไว้เดิมไม่เพียงพอและดินไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช ซึ่งจะได้นำไปชี้แจงราษฎรและนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)ต่อไป

No Comments

    Leave a Reply