กรมชลประทาน เดินหน้าเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ หลังมีฝนตกกระจายมากขึ้นในหลายพื้นที่ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนในพื้นที่ หวังให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 2 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,176 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 13,247 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 38,891 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,048 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,352 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 12.72 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 76.37 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.99 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.22 ของแผนฯ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั่วประเทศดีขึ้นโดยลำดับ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ และไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ ย้ำหากจะมีการระบายน้ำต้องประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนด้านท้ายอ่างฯทราบก่อนทุกครั้ง รวมไปถึงให้ติดตามวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงตามประกาศแจ้งเตือนของ กอนช. อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องพร้อมที่จะออกปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
No Comments