News

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แถลงผลการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

11/07/2022

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แถลงข่าวผลการดำเนินงานและทิศทางการปฏิบัติงาน ปี ๒๕๖๕ ย้ำเดินหน้า
สร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มุ่งพัฒนาคุณภาพการสอบบัญชี พร้อมมาตรการ

เชิงรุกตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน สร้างความโปร่งใสในระบบสหกรณ์ ควบคู่การสอนบัญชีให้ครอบคลุม
ทุกกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นการสร้างวินัยทางการเงิน สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายอำพันธุ์
เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมผู้บริหาร ร่วมด้วยสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุม ๔๐๔ อาคาร ๔ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กํากับการสอบบัญชีสหกรณ์ที่ดําเนินการโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและบุคคลอื่นเพื่อให้สหกรณ์ได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างโปร่งใส และประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ โดยชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้สหกรณ์ได้นำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ที่มีมูลค่ากว่า ๓.๕๘ ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๕๔ ของ GDP ทั้งประเทศ พร้อมทั้งดำเนินงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกร ผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดทำบัญชีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

๑. ด้านการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชี สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอํานวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม เพื่อให้การสอบบัญชีสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเอง และการควบคุมกำกับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ให้ทำการตรวจบัญชีอย่างโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหา
การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีทุกราย และมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องทุกปีซึ่งในปัจจุบัน มีผู้สอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียน ทั้งหมดจำนวน ๒๗๐ คน แยกเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) จำนวน ๒๔๘ คนและมีบุคคลอื่น จำนวน ๒๒ คน โดยในปี ๒๕๖๕ กรมฯ ได้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปแล้วกว่า ๙,๐๐๐ แห่งมีการตรวจพบข้อสังเกตและแจ้งให้สหกรณ์แก้ไขปรับปรุง จำนวน ๑,๔๒๑ แห่ง

 

ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ โดยวางระบบการตรวจสอบที่ครอบคลุม
ทั้งด้านการบริหารจัดการและการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกันเหตุทุจริตได้ โดยจัดทีมตรวจสอบพิเศษ เข้าตรวจสอบระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวน ๑,๑๗๘ สหกรณ์ ทั้งด้านการเงินการบัญชีและระบบการควบคุมภายใน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ พร้อมพัฒนาความรู้ให้ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ตรวจสอบกิจการให้สามารถสอดส่องดูแลการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ในการนำเทคโนโลยี มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชัน Smart๔M เป็นเครื่องมือช่วยให้คณะกรรมการสหกรณ์ สามารถตรวจสอบสถานะทางการเงิน เพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการ สร้างระบบการควบคุมภายในที่ดี และส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน สามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมและยืนยันข้อมูลของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตในสหกรณ์ โดยปัจจุบัน มีสหกรณ์ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวม ๒,๕๖๙ แห่ง มีสหกรณ์ใช้แอปพลิเคชัน Smart๔M รวม ๙๓๕ แห่ง และเกษตรกรใช้ SmartMe รวม ๕๑,๘๖๑ คน นอกจากนี้ ยังได้เสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มีความรู้ด้าน IT เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบบัญชี อาทิ โปรแกรมเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (CFSAWS:ss) เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานให้สามารถวิเคราะห์ เฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีระยะไกล (Remote Audit) เพื่อเป็นทางเลือกในการสอบบัญชี ทั้งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและช่วยวางแผนการสอบบัญชีก่อนเข้าตรวจสอบในสถานที่จริง ทำให้สามารถติดตามและเฝ้าระวังความผิดปกติที่เกิดขึ้นและวางแผนตรวจสอบและให้คำแนะนำได้ทันต่อสถานการณ์

๒. ด้านการสอนบัญชีแก่เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย กรมฯ ได้ดำเนินงานส่งเสริมการจัดทำบัญชีในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้กับเกษตรกรและสมาชิกสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งกำกับแนะนำกระตุ้นและติดตามการจัดทำบัญชีของเกษตรกร โดยในปี ๒๕๖๕ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้ขยายผลไปในทุกกลุ่มเป้าหมาย กว่า ๖๔,๐๐๐ ราย นอกจากการสอนบัญชีให้สถาบันเกษตรกรแล้ว เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ควรได้รับการปลูกฝังความรู้ด้านการจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างวินัยทางการเงินให้ตนเอง และนำไปสู่ความสำเร็จในการวางแผนการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของตนเองและครอบครัว โดยกรมฯ ได้เข้าร่วมสนองงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี ๒๕๖๕ กรมฯ ได้อบรม/สอนแนะนำการจัดทำบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนให้แก่โรงเรียนในสังกัด ตชด./สพฐ./สช./พศ./กทม./อปท. จำนวน ๕๒๔ โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียน/ครูของโรงเรียนที่ได้รับการอบรม จำนวน ๒,๐๓๗ ราย สานต่อด้วย โครงการต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่ขยายผลการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้แก่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการบันทึกบัญชี รู้จักการคิดคำนวณเลข สามารถวางแผนในการใช้จ่ายเงิน มีเครือข่ายการจัดการภูมิปัญญาทางบัญชี ระหว่างโรงเรียน นักเรียน และขยายผลไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน โดยมีโรงเรียนที่รับผิดชอบ รวม ๔๔๗ โรงเรียน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ รวม ๔๐๕ โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ๑๙๑ โรงเรียน และ ตชด. ๒๑๔ โรงเรียน) ดำเนินการไปแล้ว ๒๑๑ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๑๐
(ข้อมูล ณ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕)

ทั้งนี้ กรมฯ ได้บูรณาการความร่วมมือการสอนบัญชีให้ขยายผลยิ่งขึ้น อาทิ การลงนาม MOU “การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน และสหกรณ์นักเรียน ให้แก่เด็กและเยาวชน” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีให้เข้าถึงสถาบันการศึกษา กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๙ รวม ๒๖,๘๐๗ โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียน ๙๘๘,๒๕๖ คน โดยในปี ๒๕๖๕ ดำเนินการ ๕ % รวมจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๑,๑๕๕ แห่ง และจำนวนนักเรียน รวม ๖๘,๕๙๓ คน และตั้งเป้าหมายดำเนินการในปีต่อไป ปีละ ๒๔% จนครบตามเป้าหมายทั้งโครงการ และในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ได้จัดให้มีพิธี MOU โครงการ “ชุมชนคนทำบัญชี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยจะดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๖๕ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนในชุมชนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอ ทั่วประเทศ ๗๖ จังหวัด มีครูบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรม กำกับและติดตามประเมินผลความรู้ที่ได้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของตนเอง ปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสม มีวินัยทางการเงิน ตลอดจนพัฒนาต่อยอดให้เป็นครูบัญชีได้ในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป กรมฯ ได้จัดทำวีดิทัศน์การสอนบัญชีในรูปแบบ ๕ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษายาวี เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง โดยเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ปลูกฝังให้ใช้บัญชีเป็นเครื่องมือนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีวินัยทางการเงิน และตระหนักถึงคุณค่าการออมอีกทางหนึ่งด้วย

No Comments

    Leave a Reply