News

รมช.มนัญญา ชูสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ต้นแบบพัฒนาอาชีพการเกษตรในพื้นที่คทช.

30/03/2022


การรักษาผืนดินให้ยั่งยืนคือการทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรได้เห็นถึงคุณค่าของที่ดินที่อาศัยทำกิน และช่วยกันรักษาหวงแหนไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ได้อยู่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นสร้างอาชีพทำการเกษตรทั้งปลูกพืชปลูกผักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลา ไว้เพื่อแบ่งปันกันและขายให้กับคนในชุมชนหมู่บ้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการคณะที่ 3 มีหน้าที่พัฒนาอาชีพให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้จากคทช. ซึ่งนำที่ดินที่ถูกบุกรุกจากนายทุนกลับมาจัดสรรให้ประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินและได้ผลกระทบจากโครงการรัฐได้เข้าอยู่อาศัยและทำการเกษตร ดังเช่นกรณีสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งชุดความสำเร็จของการพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมตลาดผลผลิตการเกษตรให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คทช.

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ได้รับการจัดสรรที่ดินจากคทช. และมีการนำระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของคนในชุมชน โดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด มีบทบาทในการส่งเสริมสมาชิกให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์และมีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยมีเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดและมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ร่วมถึงการทำการตลาดที่สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน ซึ่งผลจากการติดตามพบว่า สหกรณ์มีการพัฒนาตลาดประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์สินค้าอินทรีย์ของตนเองในชื่อ”Maetha” ทำให้สมาชิกสามารถขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ต่อเนื่องทั้งปีภายใต้การคุมคุณภาพของทีมสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา ซึ่งถือเป็นอีกพื้นที่ต้นแบบที่จะสร้างกำลังใจให้เกษตรกรและประชาชน ในพื้นที่คทช.อีกหลายแห่งจะใช้เป็นตัวอย่างในการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืน
“ ที่ดิน คทช.เป็นพื้นที่ป่าที่รัฐรวบรวมกลับมาและสรรให้เกษตรกรคนละ 10 ไร่ ซึ่งจำนวนที่ดินอาจไม่มากแต่เพียงพอสำหรับการทำมาหากิน ต้องอาศัยความตั้งใจของทุกคนที่จะสู้เพื่อครอบครัวของตัวเองในการสร้างอาชีพ ซึ่งรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงให้ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ที่ได้รับมอบหมายจากคทช.ให้พัฒนาอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่คทช. เชื่อว่าเมื่อทุกคนร่วมใจกันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสหกรณ์ที่เราเป็นสมาชิกและส่งผลต่อเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืนในถิ่นที่อยู่ที่รัฐและประชาชนทั่วประเทศจัดให้กับพี่น้องที่เดือดร้อน “ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินคทช.ผ่านระบบสหกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ปี 2558 โดยได้เข้าพัฒนาแล้ว 6 ชุมชนใน 4 จังหวัด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนผ่านระบบสหกรณ์ ทั้งนี้ กรมได้รับมอบที่ดินจากคทช.ที่จัดคนลงแปลงที่ดินแล้วจำนวน 3.2 แสนไร่ 64 จังหวัด และได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ในพื้นที่คทช.เนื้อที่ 2.9 แสนไร่ โดยในปี 65 จะเข้าดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 30 แห่งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนปฏิบัติ 3 ปีเป้าหมายคือเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทั้งนี้จะมีตัวชี้วัด 6 ด้านคือ การพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์บนพื้นฐานโซนนิ่งพื้นที่เกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำและปัจจัยพื้นฐาน การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การทำบัญชีครัวเรือน ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ทา มีพื้นที่รับมอบจากกรมป่าไม้ 2,323 แปลง 1,190 ราย รวมพื้นที่ 7,282 ไร่ คทช.จังหวัดอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ 1,374 ราย 2,693 แปลง พื้นที่ 5,586 ไร่ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพและแปรรูปผลผลิตในพื้นที่ตั้งแต่ ปี 2561 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร (ไทยนิยม ยั่งยืน) ดังนี้ 1. อุปกรณ์ตัดแต่งผลลิตการเกษตร จำนวน 127,000 บาท 2. ห้องเย็นจัดเก็บผลผลิตการเกษตร จำนวน 400,000 บาท และ 3. ปรับปรุงอาคารรับซื้อผลผลิตการเกษตร จำนวน 369,500 บาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมด้านการผลิตพืชผักอินทรีย์ของชุมชน ทั้งในด้านการวางแผนการผลิต การวิเคราะห์สำรวจตลาด การสำรวจภาวะเศรษฐกิจ โดยให้สหกรณ์เป็นเจ้าของโรงเรือน และให้บริการไปยังสมาชิกชุมชน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก โดยมี อบต.แม่ทา เป็นที่ปรึกษา ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 70 คน โดยตั้งแต่ปี 2558 – 2564 ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถบริการชุมชนในเรื่องของการส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์ จำนวนทั้งสิ้น 158 ชนิด.

นางบัวใส กันธะดา อายุ 58 ปี เกษตรกร ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นเกษตรกรที่ได้รับที่ดินตามโครงการ คทช. กล่าวว่า อยู่ในพื้นที่มานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่ไม่มีความมั่นคงในพื้นที่ดินทำให้ไม่กล้าพัฒนาอะไรมาก หลังจากคทช.ให้อยู่ทำให้มีความมั่นคงมากขึ้น จึงทำเกษตรหลากหลายมากขึ้นมีรายได้เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว นอกจากนั้นบุตรสาวอายุ 38 ปี ทำอาชีพพนักงานบริษัททัวร์แต่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาอยู่บ้าน 2 ปี ช่วยทำการเกษตรขณะนี้ไม่คิดกลับไปเป็นลูกจ้างบริษัทแล้ว แต่ช่วยพ่อแม่ทำการเกษตร เพราะเห็นว่าอาชีพเกษตรคืออาชีพที่เลี้ยงตัวได้ดีและมีความยั่งยืนปัจจุบันรายได้ครัวเรือนมาจากการขายผักทุกวันผ่านสหกรณ์ ขายตลาดนัดในพื้นที่ และผ่านระบบออนไลน์ที่ลูกสาวช่วยกันทำ
นางบัวใสบอกว่า 20 ปีก่อนหน้าทำข้าวโพดใช้สารเคมี และ 19 ปีที่ผ่านมาหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทำให้มีสุขภาพดีและมีรายได้ต่อเนื่องทุกวันเพราะปลูกผักสวนครัวขายได้ทุกวัน
นายเหรียญทอง พัดอุ อายุ 66 ปี ได้ที่ดินคทช. 2 ไร่เศษ ซึ่งดีใจมากเพราะมีความมั่นคงในที่ดินมากขึ้น สามารถที่จะขุดบ่อน้ำได้ ขุดบ่อบาดาลได้ จากเดิมที่ทำอะไรไม่ได้ แม้จะอยู่กันมาแต่สมัยตายายอยู่กันมา 30 ครัวเรือน ทำถนนก็ไม่ได้ พอมาเป็นที่ดินคทช. และบางจุดได้โฉนดชุมชนด้วยก็ดีขึ้นทำถนนได้ พอมีน้ำก็สบายขึ้น คนในแม่ทาจึงดีใจมาก ขณะนี้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทำเกษตรผสมผสาน จะมีรายได้ตามฤดูกาล และบางช่วงก็จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะในพื้นที่เลี้ยงโคนมกันเยอะ ตอนนี้พออยู่พอกินเรียกว่ารวยล่ะ ถ้าเราพอเพียงก็ถือว่าผมก็รวย

No Comments

    Leave a Reply