News

ประกาศบนเวทีโอไออี!! ปี 64 ไทยลดใช้ยาต้านจุลชีพในคน-สัตว์

28/10/2018

“กฤษฏา” ประกาศบนเวทีโอไออี ตั้งเป้าหมายประเทศไทยปี64  ลดภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ50 ชี้ลดใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ ร้อยละ 20 ในสัตว์ ร้อยละ30 จะทำให้ไม่ตกค้างในเนื้อสัตว์ ส่งผลผู้บริโภคลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ

28 ต.ค.61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก

ในโอกาสนี้ นายกฤฏษา ได้กล่าวอภิปรายบนเวทีว่า ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม  ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งครม.ได้ให้ความเห็นชอบ ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน  โดยในปี 64 มีเป้าหมายภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลงร้อยละ50 และการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ร้อยละ20 ในสัตว์ลดลงร้อยละ30 โดยมีมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกทั้งประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล  โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ 

“การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง” เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยาของประเทศแบบบูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพทั้งยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ กำหนดให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพตามใบสั่งสัตวแพทย์ และลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มปศุสัตว์และประมง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลกที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหากมีการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างเหมาะสม จะทำให้ไม่ตกค้างในเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพด้วย เป็นห่วงโซ่กันไป เมื่อเจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียจึงสามารถหายารักษาได้ง่าย 

“ข้อเรียกร้องจากเวทีโลกให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศเร่งจัดทำแผนดำเนินการระดับประเทศเพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี จะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งไทยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2464 โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีเพียง 67 ประเทศจาก 194 ประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาระดับชาติ  อีกทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ แสดงความมุ่งมั่นทางนโยบายและทางการเมืองของประเทศไทยและกลุ่มประเทศ G77 ในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาและความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน รวมทั้งเห็นชอบต่อถ้อยแถลงทางการเมืองร่วมกับผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องกำจัดเชื้อดื้อยา”นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

No Comments

    Leave a Reply