News

เกษตรฯ เคาะเสร็จจัดโควต้าผู้ประกอบการ นมโรงเรียน เร่งดำเนินการทำสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน

21/10/2018

เกษตรฯ เคาะเสร็จจัดโควต้าผู้ประกอบการ นมโรงเรียน  64 ราย 71 โรงงาน รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร วันละ 1,170 ตันต่อวัน พร้อมจัดสรรพื้นที่ส่งนมโรงเรียนลงตัวชงมิลค์บอร์ดเห็นชอบเร่งดำเนินการทำสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน นี้

21 ต.ค.61 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เปิดเผยว่า ได้พิจารณาจัดสรรสิทธิการจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการแล้ว โดยในภาคเรียนที่ 2/2561 นี้มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 64 ราย 71 โรงงาน เป็นรายที่เคยร่วมโครงการในภาคเรียนที่ผ่านมา 59 ราย รายที่เคยเข้าโครงการในปีก่อนๆ แต่ไม่ได้เข้าในภารเรียนที่ 1/ 2561 จำนวน 4 ราย และมี 1 รายซึ่งเป็นรายใหม่ รวมปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 1,317.647 ตันต่อวัน เกินปริมาณซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการบริหารจัดการฯนมโรงเรียนกำหนดไว้ที่ 1,170 ตันต่อวัน โดยคำนวณจากจำนวนนักเรียนทั้ง 7,40, 000 คน ดื่มนมวันละ 200 มิลลิลิตร ภาคเรียนละ 130 วัน ดังนั้นปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการยื่นขอร่วมโครงการเกินอยู่ 147.647 ตันต่อวัน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ปรับลดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการวิชาการของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ตุลาคม 61) จะเชิญผู้ประกอบการที่คุณสมบัติผ่านทั้ง 64 รายมาร่วมประชุม โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนจะพิจารณาจัดสรรตามประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายของมิลค์บอร์ด จากที่แบ่งเป็น 4 ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิน้อยกว่า 50,000 กล่อง/ถุงต่อวันซึ่งมีสถานที่ผลิตในจังหวัดใดจะได้จำหน่ายในพื้นที่นั้นหรือพื้นที่ใกล้เคียง หากมีผู้ประกอบการในพื้นที่มากกว่า 1 รายให้จัดสรรแก่สหกรณ์ขนาดเล็ก โครงการพระราชดำริ สถาบันการศึกษา หรือผู้ประกอบการเอกชนขนาดเล็กก่อน ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจำหน่ายมากกว่า 50,000 กล่อง/ถุงต่อวันจะได้รับพิจารณาเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้เบื้องต้นจะให้ผู้ประกอบการได้ข้อตกลงกันเองก่อน แต่หากตกลงกันไม่ได้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการฯ นมโรงเรียนจะเป็นพิจารณาชี้ขาด ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีผู้ประกอบการในสถานที่น้อย หากมีสิทธิเหลือ ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาจัดสรรแก่ผู้ประกอบการภาคอื่นได้

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า จะพิจารณาจัดสรรพื้นที่ให้ภายในวันที่ 23 ตุลาคม จากนั้นจะนำเสนอมิลค์บอร์ดพิจารณาเห็นชอบการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายในวันที่ 24 ตุลาคม แล้วประกาศผลการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายในวันที่ 26 ตุลาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ไปทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานที่จัดซื้อให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2561 วันที่ 1 พฤศจิกายน โดยหน่วยงานที่จัดซื้อนมโรงเรียนรัฐบาลและเทศบาลคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนโรงเรียนเอกชนดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งจะต้องรายงานยอดการใช้น้ำนมจากศูนย์รวบรวมนม ยอดการผลิตรายเดือน ยอดการส่งมอบผลิตภัณฑ์นมไปยังโรงเรียนแก่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนทุก 15 วันซึ่งในภาคเรียนนี้จะตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนว่า แจ้งตัวเลขรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรอันเป็นเท็จ

No Comments

    Leave a Reply