News

กรมชลฯเร่งรัด ติดตามการศึกษาพัฒนาฯ คลองบางไผ่และสาขา รองรับการเติบโตศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

21/02/2024

 

กรมชลประทานลงพื้นที่ เร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาพัฒนารูปแบบ ความเหมาะสมในการเก็บกักน้ำ/การระบายน้ำคลองบางไผ่และสาขา รองรับการเติบโตพื้นที่โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขา ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีว่า ตามที่กรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำโครงการศึกษาฯเพื่อทบทวนศักยภาพของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่โครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาคลองบางไผ่และสาขา เพื่อการเก็บกักน้ำการระบายน้ำ การเติมน้ำลงสู่ใต้ดิน และการใช้ประโยชน์เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาหาข้อมูลเพื่อออกแบบรายละเอียดเพื่อใช้ในการก่อสร้างและจัดทำเอกสารประกวดราคาของโครงการฯ นั้น ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าตามลำดับโดยเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศเพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วม ตลอดจนเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนดำเนินงานโครงการศึกษาฯ ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย

นายสุรชาติ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการด้วยว่า เกิดจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ได้พัฒนาและขับเคลื่อนโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะตามมติครม. ซึ่งผลการศึกษาได้มีการออกแบบเบื้องต้นในการพัฒนาทางน้ำธรรมชาติ (คลองบางไผ่และสาขา) ในลักษณะการปรับปรุงทางน้ำ และแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นระบบระบายน้ำหลักและป้องกันการเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่ม 2 ฝั่งลำน้ำ รวมทั้งให้มีการใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำหลากอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่โครงการ

ทั้งนี้ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดอาคารกักเก็บน้ำในลำน้ำคลองบางไผ่และสาขา ถือเป็นโครงการนำร่องในการบริหารจัดการน้ำผ่านการประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution: NbS) ของ สกพอ. ซึ่งมีแผนเริ่มดำเนินงานเป็นระยะแรก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มีคุณภาพ และเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคง รวมทั้งเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอันงดงามทางภูมิสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งอาจเป็นการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำลักษณะขั้นบันได 2 จุด และอาคารประกอบ ที่สามารถกักเก็บน้ำต้นทุนได้ประมาณ 2 – 4 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ศึกษาแนวทางการออกแบบองค์ประกอบโครงการทางด้านสถาปัตยกรรมสีเขียว หรือ Green Design ได้แก่ Measures ที่ใส่เข้าไปเป็น Green Example

ได้แก่ การสร้างพื้นที่สีเขียวเปิดรับน้ำล้น/น้ำหลาก และ Stormwater บริเวณพื้นที่ขอบตลิ่ง กำแพงกันดินของ Water Detention Lagoon โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แหล่งน้ำทั้งในและนอกพื้นที่ศึกษาเข้าด้วยกัน ให้สอดคล้องกับแผนดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะและเป็นโครงข่ายที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเชิงฟังก์ชันการบริหารจัดการน้ำ นันทนาการ และเชิงนิเวศ เป็นต้น

“สำหรับแนวทางศึกษาด้วยว่ากรอบการศึกษาจะเน้นรวบรวมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรวบรวมข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการและพื้นที่ศึกษาที่เคยได้ทำการศึกษาไว้แล้ว การศึกษาศักยภาพและแนวทางการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นไปได้ การทบทวนแผนหลักต่างๆ ของ สกพอ. ได้แก่ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเพิ่มเติม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นต้น รวมทั้ง ศึกษาภาพรวมสภาพปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ศึกษา รวบรวมประกาศพื้นที่เกิดภัยพิบัติ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในบริเวณพื้นที่ศึกษาให้ทราบถึงสภาพของปัญหาในพื้นที่ที่เคยเกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไข ลด หรือปรับปรุงสภาพปัญหาในพื้นที่ศึกษาให้ดีขึ้น โดยเฉพาะ ปัญหาด้านภัยแล้งและปัญหาอุทกภัย” นายสุรชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังเน้นการศึกษาเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตในภาคการเกษตร ความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สำหรับประเทศไทยความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศและอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารทั้งระดับประเทศและระดับครัวเรือน เป็นต้น

No Comments

    Leave a Reply