PR NEWS

เปิด “จีระวรรณฟาร์ม” เลี้ยงหมูอารมณ์ดี สำเร็จได้ด้วยคอนแทรคฟาร์ม

18/04/2019

เมื่อถึงหน้านาก็ทำนาปลูกข้าว พอหมดหน้านาก็ทำไร่ข้าวโพดปลูกมันสําปะหลังสลับกันไป นี่คือภาพชินตาของอาชีพชาวนาไทย “จีระวรรณและสง่า สอนพรม” ก็เป็นอีกครอบครัวที่ยึดอาชีพทำนาตามรอยบรรพบุรุษ แต่ละปีก็พอได้ข้าวกินที่เหลือก็แบ่งขาย ไม่ได้มั่งมีเหลือกินเหลือใช้ ทำให้ทั้งสองเริ่มคิดว่าจะมีอาชีพอะไรที่สามารถสร้างรายได้ให้ตลอดทั้งปี จนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเพื่อนที่อยู่ต่างหมู่บ้าน และเห็นว่าเขาลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงหมูกับบริษัทแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้สนใจมากและเริ่มหาข้อมูลทันที พบว่าการเลี้ยงหมูลงทุนไม่สูงมาก และการจัดการไม่ยุ่งยาก เนื่องจากมีบริษัทดูแลทั้งเรื่องการผลิตและการตลาดให้ จีระวรรณและสง่า ตกลงกันในทันทีว่าจะผันตัวเองมาเป็นคนเลี้ยงหมู“ความสำเร็จของเพื่อนที่ได้ไปเห็นเป็นแรงบันดาลใจให้เราสองคน เพราะแต่ละปีเราทำนาได้รายได้ปีละครั้ง ทำไร่เสริมอีกก็ได้เงินตามแต่ผลผลิตที่ได้ แต่การเลี้ยงหมูทำให้เรามีรายได้ทั้งปี จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเลี้ยงของตัวเอง ซึ่งก็มาจากความขยันและเอาใจใส่ ดังนั้นเราเชื่อว่าจะทำอาชีพนี้ได้อย่างแน่นอน” จีระวรรณ บอก

เมื่อตกลงใจได้ดังนั้น “จีระวรรณฟาร์ม” จึงเริ่มก่อตั้งขึ้น ในปี 2545ในพื้นที่ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ทำให้ทั้งสองคนเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทรคฟาร์มโครงการฝากเลี้ยงหมู กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยเริ่มสร้างฟาร์มระบบปิด เลี้ยงหมูขุนจำนวน 500 ตัว ในโรงเรือนอีแวปตามมาตรฐานของบริษัท แม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงสัตว์มาก่อนแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ และยังมีทีมงานทั้งสัตวแพทย์และสัตวบาลของซีพีเอฟมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งวิธีการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม และการดูแลสุขภาพหมู เพื่อให้สามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังพร้อมเปิดรับความรู้และวิชาการใหม่ๆที่บริษัทมอบให้อย่างต่อเนื่อง

พอได้ทำอาชีพนี้จริงๆ จีระวรรณและสง่า บอกตรงกันว่าเป็นอาชีพที่ทั้งสองคนชอบมาก ที่ได้เลี้ยงดูหมู ได้เห็นการเติบโต และได้ดูแลเอาใจใส่ การเลี้ยงหมูทุกๆรุ่นพวกเขาจะเน้นความเป็นอยู่ที่ดีของหมู การปรับอุณหภูมิและการให้อาหารที่เหมาะสมกับช่วงอายุหมู เมื่อสังเกตหมูที่เริ่มกินอาหารน้อยก็จะแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ และที่ฟาร์มนี้ยังเปิดเพลงให้หมูฟังเพื่อให้ได้ “หมูอารมณ์ดี” คนเลี้ยงก็มีความสุข การใส่ใจดูแลเช่นนี้ทำให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูของฟาร์มนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมากมาตลอดนอกจากนี้ จีระวรรณฟาร์มยังนำระบบไบโอแก๊สมาบำบัดของเสียที่เกิดจากการเลี้ยง ทำให้ได้ประโยชน์ถึง 4 ต่อ ทั้งได้ก๊าซธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ในฟาร์ม ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟและค่าน้ำมันดีเซลสำหรับเดินมอเตอร์พัดลมได้ถึง 50% จากก่อนใช้ระบบต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 40,000 บาทต่อรุ่น หลังจากใช้ระบบทำให้ค่าใช้ลดลงเหลือเพียง 20,000 บาทต่อรุ่น ที่สำคัญระบบไบโอแก๊สยังช่วยลดกลิ่นและแมลงวัน ทำให้การเลี้ยงหมูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และยังได้กากมูลที่ผ่านการบำบัดแล้วซึ่งมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับต้นพืชสามารถนำไปเป็นปุ๋ยสำหรับนาข้าว สวนยาง ไร่ข้าวโพดและไร่มันสําปะหลัง ที่จีระวรรณปลูกไว้ รวมทั้งขายปุ๋ยนี้ให้กับเพื่อนเกษตรกรเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย“เราดีใจที่ได้อยู่ในครอบครัวซีพีเอฟ ที่ผ่านมาบริษัทเป็นทั้งเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษา และเป็นตลาดรับผลผลิต ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเลี้ยงหมูแล้วจะขายให้ใคร หรือต้องไปเครียดกับตลาดที่ราคาผันผวน ที่สำคัญเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงหมูปลอดสารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ได้มีอาชีพที่เราเลือกเองและมุ่งมั่นทำจนสำเร็จ แต่ละปีมีรายได้ราวๆ 700,000 บาทจากการเลี้ยงหมูขุน 2 รุ่น ปัจจุบันเลี้ยงรุ่นละ 680 ตัว ทำให้มีเงินส่งลูกทั้ง 2 คนเรียนจนจบปริญญาก็เพราะอาชีพเลี้ยงหมู วันนี้ยังวางแผนที่จะขยายฟาร์มให้กับลูกสาวคนโต เพราะเขาเห็นความสำเร็จของพ่อแม่ เราเชื่อว่าอาชีพนี้จะกลายเป็นมรดกให้ลูกๆได้อย่างแน่นอน” สง่า บอกอย่างมั่นใจ

จีระวรรณและสง่า ถือเป็นหนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เปิดรับความรู้ที่ไม่สิ้นสุด และสามารถประยุกต์ใช้เทคนิควิชาการใหม่ๆได้อย่างเหมาะสมจนประสบความสำเร็จมากว่า 17 ปี

No Comments

    Leave a Reply