News

กรมชลประทานเตรียมความพร้อมพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหลากในโครงการบางระกำโมเดล ปี 62 รวมพื้นที่รับน้ำกว่า 382,000 ไร่ หลังประสบความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา

03/04/2019

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ภัยแล้ง ในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก การช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและการปรับการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ(โครงการบางระกำโมเดล2562) พร้อมเป็นประธานในพิธีเปิดการส่งน้ำเพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวนาปีโครงการบางระกำโมเดล โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบางระกำโมเดล 62 เป็นการต่อยอดมาจากโครงการบางระกำโมเดล 60 และ 61 ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อที่จะใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว รับน้ำหลากจากแม่น้ำ เป็นการตัดยอดน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมือง โดยมีทุ่งรับน้ำ 2 ส่วนคือ พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ 265,000ไร่ โดยเริ่มปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม สามารถรองรับน้ำหลากได้ 500 ล้าน ลบ.ม. และ พื้นที่ใต้ จ.นครสวรรค์จำนวน 12 ทุ่ง พื้นที่ 1,149,898 ไร่ โดยเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน สามารถรองรับน้ำหลากได้ 1,533 ล้าน ลบ.ม. จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ปี 2560 นำมาสู่การขยายผลในปี 2561 โดยขยายเพิ่มพื้นที่อีก 117,000 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมาย 382,000 ไร่ รองรับน้ำหลากได้ประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลการดำเนินการในปี 2561 ใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก ประมาณ 90,000 ไร่ รองรับน้ำไว้ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับในปี 2562 ยังคงพื้นที่เป้าหมายเดิม เท่ากับปี 2561 การเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 ให้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือน เมษายน 2562 ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 โดยเริ่มดำเนินการส่งน้ำเข้ามาในคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองสาขา ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562 เพื่อเตรียมการส่งน้ำเข้าสู่ระบบกระจายน้ำให้เกษตรกรสามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จากการปรับเปลี่ยนห้วงเวลาการเพาะปลูกข้าวในสองพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับสามารถทำการประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก เกิดรายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายและลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ช่วยชะลอการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่โครงการและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นับเป็นโครงการที่สร้างคุณูปการอย่างยิ่งแก่พื้นที่ภายใต้โครงการตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบัน(1เม.ย.62) มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขตชลประทานประมาณ 386 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทานประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่านอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี2561/62 ส่วนสถานการณ์น้ำแม่น้ำยมและลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามภาวะปกติของฤดูแล้ง สถานการณ์ยังคงต้องเฝ้าระวัง ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2561/62 มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผนที่วางไว้ 53,743 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการแก้ปัญหาและบรรเทาภัยแล้งร่วมกับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจังหวัดพิษณุโลก และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด(อพก.) สำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรรับทราบและเข้าใจแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านเกษตรกรรมจากปัญหาภัยแล้ง และโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร พร้อมทั้งประกาศแจ้งเตือนและขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) ยกเว้นพื้นที่ในเขตชลประทานที่กรมชลประทานประกาศแผนการส่งน้ำฤดูนาปี ตามแผนโครงการบางระกำโมเดล (1 เม.ย – 31 ก.ค.62) นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้จัดเตรียม รถขุดจำนวน 2 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 6 คัน และเครื่องสูบน้ำจำนวน 82 เครื่อง พร้อมเข้าร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น ในการเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงได้ตลอดเวลา
สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรรอบพื้นที่แก้มลิงบึงตะเคร็ง ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นั้น กรมชลประทาน ได้ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต9 ทำการสูบน้ำจากแก้มลิงบึงตะเคร็ง ลงคลองรอบบึงและคลองเก้ารัง คลองลัดโพธิ์ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และปศุสัตว์ รวมถึงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงภาวะภัยแล้ง พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ อีกทั้งยังทำการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรรอบบึงและบริเวณพื้นที่การเกษตรใกล้คลองส่งน้ำ ที่เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 ตามแบบโครงการบางระกำโมเดล และเพื่อลดระดับน้ำในบึงตะเคร็ง ให้อยู่ในปริมาณตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันปัญหาอุทกภัยของพื้นที่การเกษตรโดยรอบอีกทางหนึ่งด้วย

No Comments

    Leave a Reply