วันนี้ (30 พ.ย. 2567) ที่ฝายท่าเชียด นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายฐิติกร ศรีนิติวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายปกรณ์ ณ ศิริ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด นายอโณทัย สุวรรณพนัง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพัทลุง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เนื่องจากฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย (ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2567) มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกาและประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก นั้น
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยง รวม 7 เครื่อง 7 จุด เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง 1 จุด พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองต่าง ๆ เพื่อให้น้ำไหลและระบายได้สะดวก
จากนั้นได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองนาท่อม และโครงการชลประทานพัทลุง ปัจจุบันได้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ต.ชะรัด ต.สมหวัง อ.กงหรา ต.นาโหนด อ.เมืองพัทลุง และ ต.โคกม่วง ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน ด้านพื้นที่เศรษฐกิจของเทศบาลเมืองพัทลุง และเทศบาลตำบลแม่ขรี ได้รับผลกระทบจากน้ำในคลองนาท่อม และคลองท่าเชียด ที่เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง โครงการชลประทานพัทลุง ได้มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยกรมชลประทาน จะใช้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองพัทลุง(คลองลำเบ็ด) ช่วยเร่งระบายน้ำเลี่ยงเมืองพัทลุง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวพัทลุงให้มากที่สุด
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บูรณาร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
No Comments