News

กรมชลฯ เดินหน้าบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ

30/01/2023

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 เพิ่มศักยภาพคลองผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองชัยภูมิ และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิอย่างสาหัส เนื่องจากมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งรับน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก กรมชลประทาน จึงได้เดินหน้าศึกษาเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิในช่วงน้ำหลาก โดยเฉลี่ยประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลบ.ม./วินาที จึงมีแนวทางเพื่อแก้ปัญหา 4 ระยะ ด้วยการวางแผนออกแบบทั้งระบบคลองและประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมน้ำในลำปะทาวและลำห้วยสาขาต่างๆ

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ระยะที่ 1 ด้วยการก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดยอดน้ำส่วนเกินไม่ให้ไหลเข้าท่วมตัวเมืองชัยภูมิ ประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว-สระเทวดา สามารถระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคืบหน้าแล้วกว่า 33% และมีการก่อสร้างคลองเชื่อมลำปะทาว-ห้วยดินแดง เพื่อช่วยผันน้ำอีกประมาณ 50 ลบ.ม./วินาที ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและใช้งานแล้วในช่วงน้ำหลากปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การก่อสร้างมีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการ จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำหลากและสามารถรองรับการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งและส่งเสริมภาคการเกษตรกว่า 18,610 ไร่ ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ อีก 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 2 การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอน้ำหลาก ระยะที่ 3 ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า-ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก และระยะที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

No Comments

    Leave a Reply