นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอเชิงนโยบายการปลูกต้นไม้มีค่า 58 ชนิดต่อรัฐบาลจนมีผลบังคับใช้ รวมถึงการผลักดันเรื่องการปลูก “ไผ่” ด้วยใช้ประโยชน์ได้มากและหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ ไม้ใช้สอยประจำวัน จนถึงเรื่องพลังงาน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว “โครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank)” ซึ่งเป็นมติเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 2/2564 เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กร สถาบันการศึกษา ฯลฯ
“สภาเกษตรกรแห่งชาติจะร่วมขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโครงการมัดจำต้นไม้เพราะฟังดูไม่ไกลเกินไป เข้าใจง่าย โดยจะลงพื้นที่ไปสำรวจเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ และเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่การใช้ต้นไม้เพื่อการค้าปัจจุบันหรือค้าเป็นหลักทรัพย์ พร้อมกับเสนอให้คณะทำงานดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างแบบจำลองในจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากของจริง มองว่าหากเริ่มดำเนินการโครงการธนาคารสีเขียวใน 1 จังหวัดจะมีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก ด้วยก่อนหน้านั้นเกษตรกรได้ปลูกต้นไม้ตามนโยบายรัฐบาลไปบ้างแล้ว และสภาเกษตรกรฯได้ผลักดันการปลูกไผ่ไปในหลายพื้นที่ครอบคลุม 77 จังหวัด ซึ่งสามารถเริ่มได้ทันที เพียงวางระบบ การขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้แน่นอน” นายศรีสะเกษ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินสำคัญมาก พื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้ทำกินทั้งหมดยังไม่ครอบคลุมเกษตรกร ประชาชนส่วนใหญ่จึงยังเข้าร่วมโครงการไม่ได้ ข้อสังเกต คือ เกษตรกร ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ตามพื้นที่ราบส่วนใหญ่ไม่ปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นแปลง ต่างจากเกษตรกร ประชาชนพื้นที่สูงหรือบนภูเขา แต่กลุ่มนี้กลับไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งทั้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินและการส่งเสริมปลูกต้นไม้ใหญ่ให้เป็นอาชีพทางเลือกเป็นเรื่องลำดับต้นที่สภาเกษตรกรฯผลักดันอยู่ตลอด หากร่วมกับภาครัฐวางนโยบาย ทิศทางที่จะทำให้เกษตรกร ประชาชนมั่นใจได้ว่าเขาจะมั่นคงแข็งแรง ยั่งยืนถาวร เราก็จะได้ทั้งป่า ต้นน้ำ ต้นไม้ เศรษฐกิจคืนมา ความขัดแย้งกับภาครัฐก็จะไม่เกิด นี่คือปัญหาที่บอกกับกระทรวง รัฐบาล ปัญหาและโครงการนี้จะต้องหาทางเข้าไปแก้ไขไม่อย่างนั้นโครงการก็จะเข้าถึงเฉพาะกลุ่มคนเดิมๆที่มีโอกาสอยู่แล้ว และก็จะไปตัดทางคนด้อยโอกาสเหมือนเดิม
“อยากให้เกษตรกรได้มองทางเลือกและกำหนดแผนการสร้างรายได้เป็น 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้หลุดพ้นจากความจน ความยากลำบาก ซึ่งในความเป็นจริงไม่ค่อยมีคนวางแผนนัก ขอให้คิดและมุ่งมั่นอย่างจริงๆจังๆว่ามันจะต้องทำยังไงและต้องทำให้ได้ ด้านหน่วยงานภาครัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะมีแต่งบสนับสนุนลงไปอบรมเป็นหลัก จนเบื่อและจบอยู่แค่นั้น ต่อไปอยากให้แก้ไขต่อยอดให้สนับสนุนไปจนถึงอุปกรณ์และทุน เพื่อให้โครงการนั้นๆได้ผลประโยชน์และความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย
No Comments