News

ชป.เดินหน้าแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จ.สุรินทร์ /บุรีรัมย์ ร่วมขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

29/01/2021

กรมชลประทาน เดินหน้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ให้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรัด ช่วยเหลือ เยียวยาในระดับพื้นที่ โดยมีหลายหน่วยงานร่วมกันหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย

วันนี้ (29 มกราคม 2564) ที่กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะทำงานติดตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทาง VDO Conference โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์

ดร.ทวีศักดิ์ฯ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการวางแผนปรับปรุงและแก้ไขปัญหาไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำสุวรรณภา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ที่บ้านปะอาว ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2499 โดยจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึลกง ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท มาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำสุวรรณภา ด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฯ ส่งผ่านระบบท่อส่งน้ำ ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร ลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 24 เข้าสู่อ่างเก็บน้ำสุวรรณภาตามลำดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม และการสำรวจ-ออกแบบ เพื่อพิจารณาเสนอของบประมาณต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำการขุดลอกเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำอำปึลกง และลำห้วยสาขา ปริมาณ 200,000 ลบ.ม. เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ปัจจุบันออกแบบก่อสร้างแล้ว โดยได้เสนอเข้าแผนงานงบแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 (เพิ่มเติม) อีกโครงการเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการปรับปรุงเสริมฝายพับได้บนสันอาคารระบายน้ำล้น (Spill Way) ของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึล สามารถเพิ่มระดับเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 0.50 เมตร หรือเก็บกักน้ำได้อีก 5 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 27.67 เป็น 32.67 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่อ่างเก็บน้ำอำปึล ได้ทำการกันเขตสูงกว่าระดับเก็บกักเดิม 1 เมตร จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ขอบอ่างฯ เมื่อทำการเสริมระดับสันฝาย ทั้งยังสามารถผันน้ำส่วนนี้มาสนับสนุนการผลิตน้ำประปาที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงได้อีกด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมแนวทางสุดท้ายเป็นการวางแผนแก้ไขปัญหาฝายยางบ้านตระแสงอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะสั้น ในปีงบประมาณ 2564 จะดำเนินการซ่อมแซมฝายยางให้ใช้งานได้ชั่วคราว และติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบจุ่ม เพื่อสูบน้ำบริเวณด้านหน้าฝายเข้าท่อระบายอากาศเพื่อพองยาง ส่วนแผนระยะยาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการ และออกแบบ ก่อนจัดเข้าแผนงานก่อสร้างในปี 2566 ต่อไปทางด้านของจังหวัดบุรีรัมย์ มีแผนที่จะก่อสร้างอาคารบังคับน้ำบ้านท่าม่วง อำเภอสตึก ในรูปแบบผสมผสาน โดยมีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำ แบบบานตรง 4 บาน ระบายน้ำร่วมกับฝายทดน้ำที่ติดตั้งบานระบายน้ำแบบพับได้ จำนวน 2 บาน ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ด้วยการวางแผนก่อสร้างแก้มลิงลำปลายมาศ ต.บ้านยาง อ.ลำปลายมาศ ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างจัดเข้าแผนงานก่อสร้างในปี 2566 – 2567 พร้อมทั้งวางแผนก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ สูบน้ำผ่านท่อมาเติมที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อยู่ในแผนงานดำเนินการในปี 2565 และยังมีงานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำฝายบ้านยาง ต.ห้วยยาง อ.ลำปลายมาศ โดยการติดตั้งฝายพับได้บริเวณสันฝายขึ้นอีก 1 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. ทำให้พื้นที่ด้านท้ายมีปริมาณน้ำต้นทุนมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก

No Comments

    Leave a Reply