News

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี ปั้นลพบุรีโมเดลกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

28/07/2024


สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้แก่เกษตรกร ตั้งเป้าสร้างลพบุรีโมเดลกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง พาเกษตรกรจากอำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ และอำเภอบ้านหมี่ ออกเดินทางไปสัมมนาและศึกษาดูงาน ​ “เพิ่มศักยภาพเครือข่ายภาคการเกษตรในการบริหารจัดการแบบกลุ่ม” ​​ ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ​ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รุ่นที่ 2 ณ จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดระยอง


นายธนวัฒน์ สารสิน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า“โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ มีเกษตรกรจาก อำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ และอำเภอบ้านหมี่ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จากอำเภอบ้านหมี่จะเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ซึ่งจังหวัดลพบุรีส่วนใหญ่จะปลูกข้าวหอมมะลิ 105 โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้จึงได้พาเกษตรกรไปศึกษาดูงานเรื่องกับเรื่องข้าวเพิ่มขึ้นที่ ศูนย์บริการ การพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยองและชุมชนข้าวรักษ์โลกบ้านใต้หัวถนน หมู่ 7 ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี”

ชุมชนข้าวรักษ์โลกบ้านใต้หัวถนน ม. 7 ต. หัวถนน อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยได้ตั้งโรงสีข้าว พร้อมลานตากข้าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้มีที่สีข้าว และตากข้าวหลังทำนา โดยมีกรรมการ 9 คน สมาชิก 60 คนต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว ตามโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model โดยได้ทำการจัดตั้งเป็นจัดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2566 มีคณะกรรมการ 10 คน สมาชิก 30 คน

นายกันตพัฒน์ ปาจะ เจ้าของพื้นที่ลงเครื่องจักร กล่าวว่า
“วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กระจายพันธุ์ข้าวในพื้นที่ให้ทั่วถึง เป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายให้แก่ชุมชนในราคาถูก ส่วนพันธุ์ข้าวนั้นจะขึ้นอยู่กับกรมการข้าวที่ให้มาเราเริ่มโครงการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือว่ายังเป็นช่วงการเริ่มต้น เราจึงยังไม่มีเงินที่จะไปซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกร แต่ในอนาคตจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะได้ซื้อพันธุ์ข้าวในราคาต้นทุน ราคาถูกกว่าข้างนอกและยังจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานที่กรมการข้าวรับรอง ส่วนคนในชุมชนที่เป็นสมาชิกก็จะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ จากการได้เข้ามาร่วมกลุ่มกับทางเรา” นายกันตพัฒน์กล่าว


นายธนวัฒน์ เล่าถึงวัตถุประสงค์ในการพาเกษตรกรมาศึกษาดูงานในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า“เพื่อให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาศักยภาพกลุ่มของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้คือกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง พาไปดูการบริหารกลุ่ม บริหารชุมชน ซึ่งเราสามารถนำความรู้กลับไปปรับใช้ ในการบริหารชุมชน บริหารกลุ่มของเขาให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ผลิตให้มีมูลค่าให้สูงขึ้น”นายธนวัฒน์ กล่าวว่าสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรีให้ความสำคัญกับกลุ่มชุมชนหมู่บ้านมูลค่าสูง ซึ่งตอนนี้มีชุมชนหลายแห่งที่พร้อมพัฒนาเป็นชุมชนหมู่บ้านมูลค่าสูง โดยตั้งเป้าผลักดันให้เป็นโมเดลของจังหวัดลพบุรีในอนาคต
“จังหวัดลพบุรีมี 11 อำเภอ มี 23 หมูบ้าน ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นชุมชนหมู่บ้านมูลค่าสูง และตอนนี้ มีชุมชนที่เราเข้าไปขับเคลื่อนมาแล้ว 2 ปี เราคาดหวังจะให้เป็นชุมชนต้นแบบ ให้เป็นลพบุรีโมเดล คือบ้านคลองมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ ซึ่งเป็นกลุ่มข้าวเหมือนกัน ซึ่งที่อำเภอสระโบสถ์จะมี 3 หมู่บ้าน ที่อื่นจะมีอำเภอละ 2 หมู่บ้านที่เราขับเคลื่อนมาแล้ว 2 ปี ซึ่งทางคณะที่ทำงานทางด้านการเกษตรของจังหวัดลพบุรีได้คัดเลือกมาแล้ว ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถยกระดับเป็นต้นแบบได้ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ในเบื้องต้นเขาก็มีการบริหารจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง มีตัวสินค้าที่โดดเด่นอยู่แล้ว การที่เราพามาศึกษาดูงานก็เพื่อหาจุดเด่นของแต่ละที่เพื่อจะเอาไปปรับ และเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายในกลุ่มของเรา”
ในอนาคตอันใกล้นี้จังหวัดลพบุรีจะต้องมีชุมชนต้นแบบ ที่เป็นลพบุรีโมเดลกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูงได้แน่นอน

นอกจากนี้โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ​ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รุ่นที่ 2 ยังได้พาเกษตรกรไปศึกษาดูงานที่โดดเด่นในเรื่องต่าง ๆ นอกจาก 2 กลุ่มข้างต้นได้แก่
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

ปิดท้ายด้วยการไปชม และช้อปสินค้าชุมชนที่ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ ซึ่งตลาดนัดแห่งนี้เราจะได้เรียนรู้ว่าตลาดนัดเพื่อชุมชนโดยแท้จริง ที่ไม่หวังผลกำไรนั้นมีอยู่จริงและก็อยู่ใกล้ ๆ ลพบุรีนี่เอง ซึ่งเจ้าของตลาดก็คือครูจันทร์เพ็ญ และ ร.ท.โสภณ สาสกุล ที่ได้ก่อตั้งตลาดแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ค่าแผงถูก ไม่หวังกำไร ให้ชาวบ้านมีที่ทำมาหากิน” กว่า 20 ปีที่ตลาดแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ขาย สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยและสุดเซอร์ไพรส์เมื่อเจ้าของตลาดมีของแจกเป็นผ้าถุงผืนงามมอบให้เกษตรกรจากลพบุรีที่ลงมาจับจ่ายใช้สอย หรือแค่ลงจากรถมาเยี่ยมชมตลาดก็ได้รับผ้าถุงผืนงามไปอวดเพื่อน ๆ บนรถเช่นกัน
ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ เปิดวันจันทร์ และวันศุกร์ตั้งแต่บ่ายสามถึงหนึ่งทุ่มตั้งอยู่บริเวณข้างวัดเขียนลาย หมู่ 4 ต. บ้านแพรก อ. บ้านแพรก จ. พระนครศรีอยุธยา โทร. 08 1807 0801

No Comments

    Leave a Reply