News

มกอช. เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดันฟาร์มปลาเรนโบว์เทราต์-ปลาสเตอร์เจียน เข้ามาตรฐาน GAP

28/03/2022

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า สัตว์น้ำจัดเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและจําเป็นสำหรับการบริโภค ปัจจุบันผลิตผลสัตว์น้ำได้จากการเพาะเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตสัตว์น้ำจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการระบบการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารให้กับผู้บริโภค คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมาตรฐานนี้ มีขอบข่ายครอบคลุมกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงในบ่อและการเลี้ยงในแหล่งน้ำสาธารณะ ตั้งแต่การเลี้ยง การจับ จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม แต่ไม่ครอบคลุมสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ จระเข้ สาหร่ายทะเล และกุ้งเครย์ฟิช และมาตรฐานนี้มีจุดเด่น คือ เกษตรกรสามารถขอการรับรองสัตว์น้ำหลายชนิดพร้อมกันได้ภายใต้มาตรฐานฉบับเดียว

ทั้งนี้ มกอช. ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งความสามารถในการตรวจประเมินฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคเบื้องต้นได้ จึงได้ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP มกษ. 7436-2563 สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์และปลาสเตอร์เจียน เข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563) โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์และปลาสเตอร์เจียนของสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอบรม ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

“ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวง อินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ปลาเรนโบว์เทราต์และปลาสเตอร์เจียน ซึ่งนับเป็นปลาเศรษฐกิจที่ประสบผลสำเร็จจากการพัฒนาวิจัยเพาะพันธุ์ ทั้งในรูปแบบการเพาะเลี้ยงและการให้ผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยจากการพัฒนาวิจัยเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราต์ เคยเพราะเลี้ยงป้อนตลาดได้สูงสุด 20 ตันต่อปี ซึ่งปลาเทราต์เป็นที่นิยมในการบริโภคของตลาด หากสามารถเพาะเลี้ยงได้จะเป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ปีละหลายตัน ส่วนปลาสเตอร์เจียนที่นิยมนำไข่ปลามารับประทาน ที่รู้จักกันในชื่อ “ไข่คาเวียร์” มีมูลค่าการจำหน่ายในท้องตลาดราคากิโลกรัมละกว่า 60,000 บาท ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นกัน

ดังนั้น การยกระดับการพัฒนารูปแบบการผลิตและควบคุมคุณภาพของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ให้มีการจัดการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ให้กับสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาเรนโบว์เทราต์และปลาสเตอร์เจียนของสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีคุณภาพที่ดี เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสู่ตลาดโลก” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

No Comments

    Leave a Reply